วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

ธรรมะเพื่อประชาชน ตอน ผู้ถึงความพินาศ


       ธรรมชาติของใจนั้น มีความว่องไวพร้อมจะท่องเที่ยวไปในทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา แม้ขณะช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ใจก็สามารถล่องลอยคิดไปได้หลายๆ เรื่อง ผู้ที่ไม่ระวังรักษาใจ ปล่อยให้ฟุ้งซ่านไปในอกุศล จะมีชีวิตที่สับสนวุ่นวาย เป็นอันตรายทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น เมื่อเรารู้เท่าทันธรรมชาติของใจ ว่าว่องไวต่อทั้งสิ่งที่บริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ เราควรรีบดูแลรักษาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความสงบสุข ด้วยการปฏิบัติธรรม ให้ใจดวงเดียวของเรานี้มีแต่สิ่งที่ดีงามอยู่ในใจ เพราะภาพดีงามในใจย่อมส่งผลดีต่อชีวิตของเรา ขอให้เรามีชีวิตอยู่กับความดี เพื่อให้ใจมีแต่ภาพที่ดีเก็บไว้ แม้วันหนึ่งเราจะต้องละจากโลกนี้ไป แต่ภาพแห่งความดีที่สั่งสมไว้ในใจ จะทำให้เราภาคภูมิใจไปตลอดกาล

มีวาระพระบาลีใน กาโปตกชาดก ว่า

     “ผู้ใดเมื่อบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมถึงความพินาศ ย่อมเศร้าโศกเหมือนกาที่ไม่เชื่อฟังคำของนกพิราบ ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู”

     หากมีผู้มาตักเตือน เราต้องรับฟังด้วยความอ่อนน้อม ให้มีสติ อย่าเพิ่งชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ให้พิจารณาให้ดีก่อนว่า ที่เขามาตักเตือนเรานั้นมีเหตุผลแค่ไหน และเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ หากเราพิจารณาแล้วว่า เขาตักเตือนเราด้วยความปรารถนาดี และหวังดีต่อเราจริงๆ แม้เรื่องนั้นอาจขัดความรู้สึกของเราบ้าง เราก็ควรรับฟัง แล้วรีบปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของบัณฑิตผู้รู้ทั้งหลาย การไม่เชื่อฟัง หรือดื้อดึงนั้น มีผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของเรา ซึ่งบางครั้งอาจมีผลถึงชีวิต ดังเรื่องของกา ที่ไม่เชื่อฟังคำเตือนของนกพิราบ จึงต้องวอดวายอย่างใหญ่หลวง ต้องนอนระทมทุกข์อยู่ในเงื้อมมือของศัตรูผู้นำความพินาศมาให้ ทั้งยังก่อให้เกิดทุกข์สิ้นกาลนาน

     * ในครั้งพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายได้นำภิกษุโลเลรูปหนึ่ง มากราบทูลพระบรมศาสดาว่า “ภิกษุรูปนี้ มีนิสัยโลเลพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสถามว่า “จริงหรือภิกษุที่เขาว่าเธอมีนิสัยโลเล” ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “จริงพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ แม้ในครั้งก่อน เธอก็เป็นคนโลเล สิ้นชีวิตเพราะความโลเลของตน แม้บัณฑิตผู้อาศัยเธอก็ต้องพลัดพรากจากที่อยู่ไปด้วย” แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าดังนี้

     ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกพิราบ ครั้งนั้น ชาวเมืองพาราณสีพากันแขวนกระเช้าหญ้าไว้ในที่ต่างๆ เพื่อให้ฝูงนกได้อาศัยอยู่อย่างสบาย เพราะความเป็นผู้มีเมตตาใคร่ในบุญกุศล แม้พ่อครัวของท่านเศรษฐีกรุงพาราณสี ก็แขวนกระเช้าหญ้าไว้ภายในโรงครัวด้วย นกพิราบโพธิสัตว์ได้เข้าอยู่ในกระเช้านั้น รุ่งเช้าก็บินออกเที่ยวหากิน ตกเย็นจึงบินกลับมาหลับนอนในโรงครัวนั้น เป็นเช่นนี้ทุกๆ วัน

     อยู่มาวันหนึ่ง กาตัวหนึ่งบินข้ามโรงครัวไป ได้กลิ่นตลบอบอวลของปลาและเนื้อ ที่มีรสเปรี้ยวรสเค็ม เกิดความโลภคิดว่า “เราจักอาศัยใครหนอ จึงจะได้กินปลาและเนื้อนี้” คิดแล้วก็คอยสอดส่องหาลู่ทางอยู่ในที่ไม่ไกล ตกเย็นกาเห็นนกพิราบโพธิสัตว์บินเข้าไปในโรงครัว กาจึงคิดหาอุบายว่า จะต้องอาศัยนกพิราบนี้จึงจะได้กินเนื้อ

     วันรุ่งขึ้นการีบบินมาแต่เช้า ทันทีที่เห็นพระโพธิสัตว์บินออกหากิน กาก็บินตามไปข้างหลัง พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น จึงถามกาว่า “สหาย เพราะเหตุใดท่านจึงเที่ยวบินตามเรามา” กาตอบว่า “นาย ข้าพเจ้าชอบใจกิริยาของท่าน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะขอปรนนิบัติท่าน” พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “พวกท่านมีเนื้อเป็นอาหาร ส่วนเรามีพืชผักเป็นอาหาร เมื่อเรากินไม่เหมือนกันเช่นนี้ การปรนนิบัติของเรากับท่านจะทำได้ลำบาก” กาตอบว่า “นาย เวลาท่านบินไปหากิน ข้าพเจ้าก็ขอบินไปหากินด้วย” พระโพธิสัตว์จึงสอนว่า “ดีแล้ว ขอท่านพึงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด”

     พระโพธิสัตว์กล่าวสอนกาดังนี้แล้ว ก็เที่ยวแสวงหาอาหาร กินอาหารมีพืชพรรณติณชาติ เป็นต้น ขณะพระโพธิสัตว์กำลังหากิน กาก็บินไปพบกองขี้วัว จึงคุ้ยจิกกินตัวหนอน เมื่อเต็มกระเพาะก็รีบบินไปรอก่อน แล้วทำเป็นสอนพระโพธิสัตว์ผู้บินตามมาข้างหลังว่า “นาย ท่านเที่ยวเกินเวลา การทำตน เป็นผู้ตะกละตะกลามหาควรไม่” จากนั้นกาได้บินเข้าไปในโรงครัวพร้อมกับพระโพธิสัตว์ พ่อครัวเห็นดังนั้นก็กล่าวว่า “นกพิราบของเราพาตัวอื่นมา” พ่อครัวจึงแขวนกระเช้าให้กาได้อาศัยอยู่ด้วย

     วันหนึ่ง มีคนนำปลาและเนื้อจำนวนมากมาให้ท่านเศรษฐี พ่อครัวรับมาแขวนไว้ในโรงครัว กาเห็นแล้วเกิดความโลภ คิดในใจว่า “พรุ่งนี้เราจะไม่ไปหากิน จะกินปลาและเนื้อนี้” จึงแกล้งทำเป็นนอนป่วย รุ่งเช้าพระโพธิสัตว์จะไปหาอาหาร ร้องเรียกว่า “เราไปกันเถิด กาผู้สหาย” กาตอบว่า “นาย ท่านไปเถิด ข้าพเจ้ากำลังปวดท้อง” พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “สหายเอ๋ย ธรรมดาโรคปวดท้องไม่เคยเกิดขึ้นในพวกกาเลย แต่ไหนแต่ไรในยามทั้งสาม ตลอดราตรี กาย่อมหิวทุกๆ ยาม ถึงจะกลืนกินไส้ประทีปเข้าไปกาก็อิ่มอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ชะรอยท่านอยากกินปลาและเนื้อนี้ มาเถิด ขึ้นชื่อว่าของกินของมนุษย์เป็นของที่พวกท่านไม่ควรกิน ท่านอย่าทำเช่นนี้เลย ไปหากินด้วยกันกับเราเถิด” กาตอบว่า “นาย ข้าพเจ้าไปไม่ไหว” พระโพธิสัตว์จึงเตือนว่า “ท่านอย่าลุอำนาจความโลภ มิฉะนั้นแล้ว ท่านจักต้องรับกรรมของท่าน ขอท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด” จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็บินออกไปหากินตามลำพัง

     พ่อครัวปรุงอาหารชนิดต่างๆ ด้วยปลาและเนื้อ แล้วเปิดภาชนะทิ้งไว้ เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกมา โดยวางทัพพีไว้บนภาชนะด้วย ขณะพ่อครัวออกไปเช็ดเหงื่ออยู่ข้างนอกนั้น กาได้โผล่หัวขึ้นมาจากกระเช้า มองไปไม่เห็นพ่อครัวก็รู้ว่า พ่อครัวออกไปข้างนอก จึงคิดว่า บัดนี้ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว เราจะเลือกกินเนื้อชิ้นใหญ่ หรือเนื้อชิ้นเล็กดีหนอ ครั้นแล้วก็เล็งเห็นว่า “ธรรมดาเนื้อชิ้นเล็กๆ เราไม่อาจกินให้เต็มกระเพาะได้ในเวลาอันสั้น อย่ากระนั้นเลย เราต้องคว้าชิ้นใหญ่ๆ มาทิ้งไว้ในกระเช้า แล้วค่อยๆ ขยอกกินจึงจะดี” คิดดังนี้แล้ว กาก็โผล่ออกจากกระเช้าลงไปแอบอยู่ใกล้ทัพพี เผอิญทัพพีหล่นบนพื้น เสียงดังลั่นโรงครัว

     พ่อครัวได้ยินเสียงจึงกลับเข้าไปดูในครัว เห็นกามาแอบอยู่ก็คิดว่า กาขี้ขโมยตัวนี้หวังจะกินเนื้อทอดของนายเรา ตัวเราต้องอาศัยท่านเศรษฐีเลี้ยงชีวิต มิใช่อาศัยกาพาลตัวนี้ เราอุตสาห์ให้ที่อยู่ มันยังทรยศได้  พ่อครัวรีบปิดประตูครัว แล้วต้อนจับกา เมื่อจับกาได้ ก็ถอนขนจนหมด จากนั้นก็ตำขิงสดผสมกับเกลือป่น คลุกกับเนยเปรี้ยว แล้วทาจนทั่วตัวกา เมื่อทาเสร็จก็โยนขึ้นไปบนกระเช้า กาได้รับความเจ็บแสบแสนสาหัส นอนหายใจแขม่วๆ อยู่ในกระเช้านั่นเอง

     ครั้นเวลาเย็นพระโพธิสัตว์บินกลับมา เห็นกาประสบความพินาศ จึงพูดว่า “ดูก่อนเจ้ากาโลเล เจ้าไม่เชื่อฟังคำของเรา อาศัยความโลภของเจ้าเป็นเหตุ จึงต้องประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง” ดังนี้แล้วกล่าวว่า “บุคคลใด เมื่อท่านผู้หวังดีมีความเอ็นดูเกื้อกูลกล่าวสอนอยู่ แต่มิได้กระทำตามคำสอนของบุคคลนั้น จึงต้องนอนระทมทุกข์เหมือนกาไม่กระทำตามถ้อยคำของนกพิราบ ต้องตกในเงื้อมมือของอมิตร นอนหายใจระทวยอยู่ ฉะนั้น” พระโพธิสัตว์คิดว่า บัดนี้เราไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้ เพราะเราทำให้เจ้าของบ้านต้องเดือดร้อน จึงบินไปอยู่ที่อื่น ส่วนกาก็สิ้นชีวิตอยู่ในกระเช้านั้นเอง

     พระบรมศาสดาได้ตรัสย้ำว่า “ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เธอเป็นคนโลเล แม้ในปางก่อนก็เป็นผู้โลเลเหมือนกัน แม้บัณฑิตทั้งหลาย อาศัยความโลเลของเธอ ต้องพลอยออกจากที่อยู่ของตนไปด้วย” ครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุนั้นได้บรรลุอนาคามิผล เป็นผู้มีคติเที่ยงแท้แน่นอนต่อหนทางพระนิพพาน

     จะเห็นว่า การไม่รีบปฏิบัติตามคำแนะนำพร่ำสอนของบัณฑิตนั้น มีผลเสียหายมากต่อชีวิตของเรา อาจทำให้ประสบกับปัญหา และถึงแก่ความตายดังเช่นกาในเรื่องนี้ แต่หากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ไม่ร้ายแรงก็ยังทันแก้ไขได้ เมื่อเราได้ทำผิดพลาดไปแล้ว อาจมีบางครั้งที่รู้สึกอยากจะย้อนเวลากลับไปเพื่อใช้ชีวิตให้ดีกว่าที่ผ่านมา แต่ก็สายเกินไปแล้ว คงจะดีไม่น้อย หากเราได้รู้ว่า จะดำเนินชีวิตให้ดีที่สุดอย่างไร เพื่อจะได้ไม่ต้องหวนกลับมานึกเสียใจในชีวิตที่ผ่านมาแล้วนั้น

     ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต คือการที่เกิดมาแล้วไม่ได้ทำความดี ถือเป็นเรื่องผิดพลาดที่ร้ายแรง ผิดวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเรามัวอ้างว่า เรื่องโน้นก็สำคัญ เรื่องนี้ก็สำคัญ ทำให้ดูเหมือนว่าชีวิตไม่มีเวลาว่างเลย ขอจงตะหนักไว้ว่า ไม่มีเรื่องใดสำคัญเท่าการทำความดี คนที่ชอบอ้างว่าต้องทำเรื่องโน้น เรื่องนี้ อ้างว่ายังไม่พร้อมที่จะทำความดี จึงเป็นผู้ที่ประมาท เพราะการแสวงหาทรัพย์ หรือได้ครอบครองทรัพย์ ไม่อาจสร้างความสุขที่แท้จริง ไม่อาจทำให้เกิดบุญกุศลได้เท่ากับการใช้ทรัพย์นั้น ให้เกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อชาวโลก เราต้องหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาทุกๆ วัน ให้สั่งสมแต่ความดีทุกลมหายใจกันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  

* มก. เล่ม ๕๖ หน้า ๑๖

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น