วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฎ

เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ

ดูก่อนภิกษุ เราตถาคตจะยกอุปมาให้เธอฟัง สมมติว่า มีภูเขาศิลาลูกใหญ่ยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ มีบุรุษผู้หนึ่งนำเอาผ้าขาวบางมาจากแคว้นกาสี แล้วเอาผ้านั้นลูบภูเขา ๑๐๐ ปีต่อครั้งหนึ่ง การที่ภูเขาศิลาใหญ่แท่งนั้นจะถึงความสิ้นไป เพราะความพยายามของบุรุษนั้น ยังเร็วกว่าระยะเวลาหนึ่งกัป ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอท่องเที่ยวไปมาอยู่ในวัฏสงสาร มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑,๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป เป็นเพราะว่า วัฏสงสารนี้กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้


เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ
     ความใสบริสุทธิ์ของใจนำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง จิตใจของเราจำเป็นต้องชำระล้างให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยการเจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนาอยู่เสมอ เราจะได้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข แม้โลกนี้จะร้อนรุ่มไปด้วยไฟกิเลสที่คุกรุ่นอยู่ในใจของมนุษย์ แต่ถ้าหากเรารู้จักฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง หมั่นขัดเกลาจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ เราก็จะเป็นผู้มีความสุขท่ามกลางหมู่ชนผู้มีความทุกข์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสั่งสอนให้พุทธบริษัท เจริญภาวนาอยู่ในหนทางสายกลาง ให้เราเห็นความสำคัญของการฝึกฝนใจว่า ใจที่ผ่องใสย่อมเป็นเหตุนำสุขมาให้ เป็นทางมาแห่งมหากุศล เป็นเครื่องนำสัตว์โลกทั้งหลายไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และนำทุกชีวิตไปสู่เป้าหมายอันสูงสุด คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ติณกัฏฐสูตร อนมตัคคสังยุต ว่า
     "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังสารวัฏนี้ กำหนดที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ เหมือนอย่างว่า บุรุษตัดทอนหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้นแล้วพึงกระทำให้เป็นมัดๆ ละ ๔ นิ้ววางไว้ แล้วสมมติว่า บุคคลนี้เป็นมารดาของเรา บุคคลนี้เป็นมารดาของมารดาของเราโดยลำดับ มารดาของมารดาของบุรุษนั้น  ไม่พึงสิ้นสุด ส่วนว่า หญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ในชมพูทวีปนี้พึงถึงการสิ้นไป ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า สงสารนี้กำหนดที่สุด เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชากางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอได้เสวยทุกข์ ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้ามาตลอดกาลนาน ด้วยเหตุเพียงเท่านั้น พอทีเดียวที่เธอจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง เพื่อจะได้คลายกำหนัดและหลุดพ้นจากทุกข์"
     วัฏสงสารนี้ มีความยาวนานจนไม่สามารถที่จะนับเวลาได้ว่า มีประมาณเท่าใด เพราะค้นหาเบื้องต้นเบื้องปลายไม่พบ สัตว์ทั้งหลายซึ่งเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เหมือนเต่าอยู่ในมหาสมุทร ต้องดำผุดดำว่ายอยู่อย่างนั้น เสวยสุขบ้างทุกข์บ้าง พวกเราทั้งหลายก็ได้ชื่อว่ากำลังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารเหมือนกัน เพราะว่ามีเคหสถานบ้านเรือนอยู่ในมนุษยโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในภพภูมิที่เป็นส่วนย่อยแห่งวัฏสงสาร
     เพราะฉะนั้น ให้รู้ตัวเอาไว้ว่า ชีวิตในสังสารวัฏของเรายังไม่ปลอดภัย ชีวิตนี้เต็มไปด้วยภยันตรายรอบด้าน จะเป็นผู้มีความสุขล้วนๆ ตลอดเส้นทางอันยาวไกล หาได้ยากยิ่งนัก แม้พระพุทธองค์เมื่อทรงระลึกอดีตชาติ ในสมัยที่ทรงสร้างบารมีอยู่นั้น ก็ทรงเห็นว่าเคยตกไปในอบายภูมิ ไปเป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉานมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ชีวิตในสังสารวัฏไม่ได้เวียนวนอยู่เฉพาะสุคติภูมิหรือมนุสสภูมิเท่านั้น ทรงเคยเกิดในทุกภพทุกภูมิมาแล้ว ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอนให้เราพิจารณาเห็นว่า ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ทรงสอนเพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความพอใจในภพทั้งปวง ให้ยินดีในหนทางพระนิพพาน
     * ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ท่ามกลางที่ประชุมพระภิกษุสงฆ์ในพระเชตวันมหาวิหาร ได้ตรัสเรื่องสังสารวัฏเอาไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย วัฏสงสารนี้กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นที่กางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏเลย สมมติว่า มีบุรุษคนหนึ่งพยายามปั้นดินให้เป็นก้อน ก้อนเท่าเม็ดกระเบาแล้ววางไว้ จากนั้นก็สมมติว่า ก้อนนี้เป็นบิดาของเรา ก้อนนี้เป็นบิดาของบิดาของเรา ทำการสมมติเรื่อยไปตามลำดับ บิดาของบิดาของบุรุษนั้นย่อมไม่เป็นอันสิ้นสุดลงไปได้ แต่ว่ามหาปฐพีนี้ ย่อมถึงความหมดสิ้นไปก่อน ข้อนี้เป็นเพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย"
     พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุว่า “น้ำตาที่หลั่งไหลออกจากตาของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจโดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน” ภิกษุทูลตอบว่า “น้ำตามากกว่าน้ำในมหาสมุทร” พระพุทธองค์จึงตรัสต่อไปว่า “ถูกแล้วภิกษุทั้งหลาย พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกจากตาของพวกเธอ ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา และร้องไห้คร่ำครวญ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจอยู่นั้น มีประมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔
     ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดามาตลอดกาลนาน พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของน้องสาว บุตรธิดา ความเสื่อมแห่งญาติ ความเสื่อมแห่งโภคะ ความเสื่อมแห่งโคตร และได้ประสบกับความเสื่อมเพราะโรคมาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกจากตาของพวกเธอ ผู้ประสบกับความเสื่อมเพราะโรคเป็นต้น และร้องไห้คร่ำครวญเพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจอยู่นั้น มีประมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้นมีประมาณน้อยกว่าน้ำตาของพวกเธอ”
     นี่เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าวัฏสงสารนี้ มีความยาวนานจนไม่สามารถที่จะกำหนดลงไปได้ว่า มีการเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด และจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ไม่สามารถที่จะนับเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี หรือแม้ในที่สุดจะนับเป็นมหากัปก็ไม่ได้ เมื่อกล่าวถึงคำว่า กัปหรือมหากัปนี้ บางท่านอาจจะสงสัยมานานแล้วว่า เป็นเวลาเท่าใดกันแน่ เพราะในตอนที่ว่าด้วยอายุของสัตว์นรกก็ดี หรือในตอนที่ว่าด้วยอายุของพรหมก็ดี ได้กล่าวถึงคำนี้ไว้เหมือนกัน แต่ยังไม่ได้อธิบายในรายละเอียด ฉะนั้น หลวงพ่อจึงขอถือโอกาสอธิบายคำว่า กัปและมหากัป เพิ่มเติมสักเล็กน้อย
     สมัยหนึ่ง ภิกษุได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กัปหนึ่งนั้นเป็นเวลายาวนานเพียงใดหนอ พระเจ้าข้า” พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนภิกษุ กัปหนึ่งนั้นเป็นเวลายาวนานนักหนา จะนับเป็นว่าเท่านี้ปี เท่านี้ร้อยปี เท่านี้พันปี เท่านี้แสนปีไม่ได้เลย” ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามต่อไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น กัปหนึ่งมีประมาณเท่าใด พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า “ดูก่อนภิกษุ เราตถาคตจะยกอุปมาให้เธอฟัง สมมติว่า มีภูเขาศิลาลูกใหญ่ยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ มีบุรุษผู้หนึ่งนำเอาผ้าขาวบางมาจากแคว้นกาสี แล้วเอาผ้านั้นลูบภูเขา ๑๐๐ ปีต่อครั้งหนึ่ง การที่ภูเขาศิลาใหญ่แท่งนั้นจะถึงความสิ้นไป เพราะความพยายามของบุรุษนั้น ยังเร็วกว่าระยะเวลาหนึ่งกัป
     ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอท่องเที่ยวไปมาอยู่ในวัฏสงสาร มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑,๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ กัป เป็นเพราะว่า วัฏสงสารนี้กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ เราตถาคตจะยกอุปมาให้เธอฟัง สมมติว่า มีพระนครที่ทำด้วยเหล็ก มีความยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ซึ่งเป็นพระนครที่เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ต่อมามีชายคนหนึ่งหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดออกจากพระนครหนึ่งเมล็ดในทุกๆ ๑๐๐ ปี ค่อยๆ หยิบออกจนกว่าจะหมด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น จะพึงถึงความหมดสิ้นไปเร็วกว่าคำว่าหนึ่งกัป แต่เวลาเรียกหนึ่งกัปนั้นยังไม่ถึงความหมดสิ้นไปเลย”
     นี่เป็นความยาวนานของสังสารวัฏและความยาวของกัป ที่หลวงพ่อได้ยกขึ้นมากล่าวเป็นอุปมาเอาไว้ย่อๆ เพราะในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงอุปมาเอาไว้มากมาย ที่ทรงยกขึ้นมาตรัสนั้น พระองค์มีพุทธประสงค์เพียงอย่างเดียว คือให้ภิกษุและพุทธบริษัททั้ง ๔ ได้เห็นทุกข์เห็นโทษในสังสารวัฏ จะได้ไม่ประมาท ตั้งใจสร้างบารมี และขยันหมั่นเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อมุ่งสู่พระนิพพาน
     แม้ว่าเราทั้งหลายจะยังไม่ถึงนิพพาน เพราะเรามีเป้าหมายที่สำคัญอยู่ คือที่สุดแห่งธรรม ยิ่งต้องไม่ประมาท ต้องหมั่นสั่งสมบุญกันอยู่เป็นนิตย์ ให้กาย วาจา ใจของเรา เป็นทางมาแห่งบุญกุศลล้วนๆ เราจะได้เวียนวนสร้างบารมีอยู่ในวัฏฏะอย่างปลอดภัย และจะอยู่ในสุคติภูมิอย่างเดียว  ดังนั้น ให้หมั่นนั่งธรรมะให้เข้าถึงพระธรรมกายกันให้ได้ จะได้มั่นใจในการผจญภัยในสังสารวัฏไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน

การแก้กรรมมีผลดีอย่างไรบ้าง?

กรรม และ วิธีแก้กรรม

การแก้กรรมมีผลดีอย่างไรบ้าง?

     มีคนถามว่าแก้กรรมได้ไหม ความจริงก็คือ กรรมที่ทำไปแล้วในอดีต เราเปลี่ยนไม่ได้ แต่แก้ไขกรรมได้ แก้อย่างไร? เวลาเราทำบาปก็เหมือนเติมเกลือ ทำบุญเหมือนเติมน้ำ ถ้าน้ำน้อยเกลือมากมันก็เค็มจัด วิบากกรรมก็ส่งผลแรง แต่ถ้าเราเติมบุญ คือเติมน้ำลงไปให้เจือจาง ความเค็มก็น้อยลงทุกอย่างจะทุเลาเบาบาง หนักจะเป็นเบา เบาก็หายไปเลย เพราะฉะนั้นการแก้ไขวิบากกรรมในอดีตทำได้ด้วยการสร้างบุญนั่นเอง
แก้กรรม วิธีแก้กรรม ตัดกรรม แก้กรรมและสะเดาะเคราะห์ต่างกันไหม?
ศึกษาวิธีแก้กรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องกรรม การแก้กรรมไว้อย่างไรบ้าง?

     กรรม แบ่งได้หลายประเภท ในที่นี้จะแบ่งประเภทตามลำดับการให้ผลของกรรมก่อน ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภท คือ

     1. ครุกรรม คือกรรมหนัก ใครทำครุกรรม ถ้าเป็นกรรมฝ่ายดีก็ปิดอบายไปเลย ละโลกแล้วไปสู่สุคติภูมิแน่นอน คือ ไปสวรรค์ ไปเป็นพรหม อรูปพรหม เคยทำบาปเท่าไรก็ตาม ปิดประตูเลย ตัวอย่างของครุกรรมฝ่ายดี คือการได้ฌานสมาบัติ นั่งสมาธิจนได้ดวงสว่างใส ๆ ได้ปฐมฌานเป็นต้นไป ใครเคยทำกรรมไม่ดีอะไรมาก็ตาม ถ้านั่งสมาธิจนได้ปฐมฌาน เกิดดวงใส ๆ นิ่งที่กลางท้องปิดอบายเลยชาตินี้

     ส่วนครุกรรมฝ่ายบาป ได้แก่ อนันตริยกรรม 5 คือ 1.ฆ่าพ่อ 2.ฆ่าแม่ 3.ฆ่าพระอรหันต์ 4.ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต .ทำสงฆ์ให้แตกกัน (สังฆเภท) ใน 5 ข้อนี้ ใครทำลงไปต่อให้เคยทำความดีเท่าไรหรือภายหลังไปทำบุญอีกเท่าไรก็ตาม ตกนรก 100 เปอร์เซ็นต์ ปิดสวรรค์ปิดนิพพาน ชาตินั้นไม่มีทางขึ้นสวรรค์และหมดสิทธิ์เข้าพระนิพพาน

     ที่หนักที่สุด คือ สังฆเภท ทำให้สงฆ์แตกกัน ใครไปยุให้พระทะเลาะกัน รู้เถอะว่ากรรมหนักที่สุด ยิ่งกว่าฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ หรือทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อเลือดเสียอีก การทำให้สงฆ์แตกกันเป็นกรรมหนักมาก และสร้างความเสียหายใหญ่หลวง ถ้าหากไปทำผิดเข้าแล้ว บุญไม่ได้ช่วยอะไรเลยหรือ ช่วยเหมือนกัน แต่ช่วยแค่ให้พ้นจากนรกขุมลึกมาอยู่ขุมตื้น อย่างไรก็ต้องตกนรก

     2. อาสันนกรรม กรรมก่อนตาย ก่อนตายคิดถึงอะไร สิ่งนั้นจะให้ผลก่อน คนเราทำทั้งบุญทั้งบาปมามากมาย ถ้าก่อนตายใจนึกถึงบุญกุศล ใจสว่างผ่องใส จะทำให้ไปสวรรค์ แต่ถ้าก่อนตายนึกถึงเรื่องที่ไม่ดี เป็นอกุศล เศร้าหมอง ก็จะต้องไปอบาย โบราณจึงบอกคนใกล้ตายว่าให้นึกถึงพระเพราะรู้หลักนี้ดี รู้ว่านึกถึงพระรัตนตรัย ใจจะได้สว่าง แล้วจะได้ไปดี แล้วบาปที่ทำหายไปไหนหรือเปล่า ไม่หาย แต่จะให้ผลทีหลัง

     ตัวอย่างเช่น พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระติสสเถระ โยมพี่สาวของท่านเอาจีวรเนื้อดีมาถวาย ท่านชอบมาก ตั้งใจจะใช้วันรุ่งขึ้น แต่คืนนั้นท่านมรณภาพไปก่อน ด้วยความที่ใจเกาะอยู่กับจีวร ผลคือตายแล้วไปเกิดเป็นเล็นเกาะอยู่ที่จีวร ทั้ง ๆ ที่สร้างบุญไว้มาก

     พอท่านมรณภาพแล้ว ข้าวของที่มีอยู่คณะสงฆ์จะนำมาแบ่งกัน เช่น จีวรก็ตัดแบ่งกัน ขณะที่พระท่านเตรียมจะแบ่งจีวรกันนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าให้ชะลอไว้ก่อน พอถึงวันที่ 8 ทรงรับสั่งให้แบ่งกันได้ เพราะขณะที่พระภิกษุคุยกันว่าจะแบ่งจีวรนั้น พระติสสเถระที่เกิดเป็นเล็นก็วิ่งวุ่นอยู่บนจีวร เพราะความหวง หากมีการแบ่งจีวรในตอนนั้น เล็นจะผูกโกรธพระภิกษุทั้งหลาย และจะทำให้ไปเกิดในมหานรก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้รอ 7 วัน พอวันที่ 7 เล็นก็ตาย แล้วไปเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต เพราะมีบุญเก่ามาก แต่ที่ไปเกิดเป็นเล็น เพราะใจเกาะอยู่ที่ผ้าจะเห็นได้ว่า อาสันนกรรมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เราจึงไม่ควรยึดติดอะไรมากเกินไปเอาแค่พอประมาณ แล้วให้ใจเราเกาะกับเรื่องที่ใส ๆ อยู่เสมอ

     3. อาจิณณกรรม บางคนรู้หลักว่า ทำใจใส ๆ นึกถึงพระ นึกถึง สัมมา อะระหัง แล้วจะไปดี เลยคิดว่าต่อจากนี้ไปทำอะไรตามใจชอบได้เลย ใกล้ตายเมื่อไรค่อย “สัมมา อะระหัง” ค่อยนึกถึงพระ ไปดีแน่นอน แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ตั้งตัวไม่ติด แล้วถ้าทุกขเวทนาบีบคั้นก็จะนึกถึงบุญไม่ออกจะนึกถึงแต่สิ่งที่ทำจนคุ้นเคย เสี่ยงมาก มีโอกาสไปอบายมาก ถ้าจะให้ปลอดภัยแน่นอน ต้องทำดีเป็นอาจิณณกรรม คือทำบ่อย ๆ สม่ำเสมอ พอใกล้ตายเราจะนึกถึงบุญออก

     4. กตัตตากรรม คือกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้ทำไม่มีเจตนา ให้ผลเป็นลำดับสุดท้าย ถ้าไม่มีกรรมอย่างอื่นมากมาย กรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ก็จะส่งผลที่จริงเรื่องกรรมมีความซับซ้อนมาก ยังมีรายละเอียดมากกว่านี้อีกมากมาย

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุผล

ทำอย่างไรจึงจะฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุผล
สร้างงานสร้างเงินสร้างคนเป็น?

หลวงพ่อตอบปัญหา
พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

     
คนมีเหตุผล คือผู้ที่สามารถตัดสินใจ
ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีความเห็นถูกตามมาตรฐานของผู้รู้จริง คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า สัมมาทิฐิ หมายถึง ความเห็นถูกหรือความเข้าใจถูกในเรื่องของกรรม

     
ซึ่งหลักเหตุและผลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งกรรม

     พระพุทธองค์ทรงสอนให้ชาวโลกเป็นผู้มองการณ์ไกล เพราะชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน จากชาตินี้ภพนี้สู่ชาติหน้าภพหน้า สู่ชาติต่อ ๆ ไป จนกว่าจะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้สำเร็จ

     ดังนั้น ทุกจังหวะของชีวิต จะตัดสินใจทำอะไร ไม่ทำอะไร จะดำเนินชีวิตไปสู่จุดไหน จำเป็นต้องคิดและชั่วน้ำหนักให้ดีถึงผลดีผลเสียของการกระทำ

     ในคราวใดที่ได้รับผลร้ายของการกระทำที่ทำผิดพลาดไว้ในอดีต จะต้องไม่มัวแต่หาคนผิดเพราะเรานั่นเองคือผู้รับผิดชอบการกระทำของตัวเรา สิ่งที่ควรจะทำคือยอมรับและแก้ไข คือทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม อย่าให้ผิดพลาดอีก เราจึงจะเป็นผู้ที่ลิขิตชีวิตที่ดีให้แก่ตนเองได้

     สิ่งสำคัญของผู้ที่จะเข้าใจกฎแห่งกรรมได้ดีจริงๆ คือ คนๆ นั้นจะต้องได้ทำความดีมาจนคุ้นในระดับหนึ่งว่าอะไรคือ ถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควรทำไม่ควรทำ ตามความเป็นจริง
     และฝึกฝนเรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยเริ่มจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ได้แก่ คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย คุณลุงคุณป้า หรือคุณน้าคุณอา ควรจะทำตัวเป็นแบบอย่าง ให้ลูกหลานทำความดีจนคุ้น เพราะตัวอย่างที่ดีย่อมมีค่ากว่าคำสอนที่ดีแต่ไม่ทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู

     แม้กระทั่งในโรงเรียน ถ้าผู้อำนวยการสถานศึกษาลงมานำคณะครู นักเรียน ลูกจ้าง ภารโรง ให้ทำความดีร่วมกัน เป็นแบบอย่างให้เห็นจนคุ้นตาคุ้นใจ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้ทุกคนได้คุ้นเคยกับการทำความดีและเห็นผลแห่งการทำความดีเช่นกัน

    การทำงานทุกอย่างที่ร่วมมือกันทำด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน จะก่อให้เกิดความสามัคคี ความมีวินัย ความอดทน และความเคารพ แล้วคุณธรรมความดีต่าง ๆ จะหลั่งไหลสู่ใจคนทำมากมาย

สิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องฝึก คือ

     1. ฝึกเป็นคนรู้จักให้ โดยเริ่มจาก ‘ทาน’ คือ ‘การให้’ เริ่มเรียนรู้การ ‘ให้’ โดยฝึกเอาศักยภาพที่ตนมีออกมาใช้ เอาเอาเรี่ยวแรงมาทำทาน เอาสติปัญญาความรู้มาทำทาน รวมทั้งเอาทรัพย์ออกมาทำทานด้วย

     ยิ่งให้ ยิ่งได้ คือได้ทั้งเรี่ยวแรงพละกำลัง ได้เพื่อนฝูง ได้น้ำใจ ได้ความคิดสร้างสรรค์
    
     2. ฝึกความเคารพ เพื่อเป็นพื้นฐานการจับดีและความคิดสร้างสรรค์ เรื่องความเคารพนี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง หากผู้ใหญ่ไม่ได้สอนลูกหลานให้เข้าใจซาบซึ้งว่า เราให้ความเคารพทำไม เด็กจะเข้าใจแต่เพียงผิวเผิน

     ถ้าเด็กเข้าใจแค่นี้ เด็กจะไม่ได้อะไรที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวของเราเลย ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เข้าใจลึกถึงที่มาของความเคารพว่าเรากราบเราไหว้ทำไม

     เรื่องของการเคารพ เรื่องของการบูชา เป็นเรื่องของการ ‘ค้นหา’ ความดีของคนอื่น เมื่อรู้ว่าเขาดีอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ก็ ‘ยอมรับนับถือ’ คือ นำความดีไปประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อว่าสักวันหนึ่งตนก็จะเป็นคนที่มีคุณความดีในตัวเช่นเขาคนนั้นบ้าง

     ดังนั้น เรื่องของการไหว้ การเคารพพระรัตนตรัย พ่อแม่ ครูอาจารย์ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรีบสอนรีบทำให้เป็น เพราะเป็นทางไหลมาแห่งคุณความดีในตัว
     3. ฝึกมองผลกรรมในอนาคต เป็นพื้นฐานของความมีวิสัยทัศน์เมื่อใครก็ตามมีโอกาสทำความดีจนคุ้นเช่นนี้ จะเข้าใจเรื่องของกรรมว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ อย่างลึกซึ้ง จะเป็นคนมองการณ์ได้ไกลว่า ประกอบเหตุอย่างไรจะส่งผลอย่างไรต่อไป และไม่ได้แค่ส่งผลในชาตินี้ แต่ยังส่งผลไปถึงชาติหน้า ติดเป็นโปรแกรมชีวิตให้อีก
     หากเรามองเห็นภาพรวมของชีวิตเช่นนี้ เราจะมองเห็นว่า บนเส้นทางชีวิตอันยาวไกลนี้ทุกสิ่งที่เราทำให้แก่ตนเองในแต่ละวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าจรดเข้านอน เราควรประกอบเหตุเช่นไรเพื่อผลในอนาคตอย่างไร

     ดังนั้น ทุกอย่างอนาคตคือสิ่งที่เราต้องลิขิตเอง เลือกเองและลงมือทำเอง ด้วยการฝึกเป็นคนมีเหตุมีผล ไม่เป็นคนเชื่อง่าย ไม่ถือมงคลตื่นข่าว สร้างงานเป็น สร้างเงินเป็น สร้างคนเป็นก็จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุที่เราได้ทำความดีมาจนคุ้น และได้ศึกษากฏแห่งกรรมจนเข้าใจนี้เอง

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไรให้พระพุทธศาสนา เกิดความเจริญรุ่งเรือง

ชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะทำให้พระพุทธศาสนา
เกิดความเจริญรุ่งเรืองทั้งในช่วงฤดูเข้าพรรษาและฤดูออกพรรษา?
หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
จากวารสารอยู่ในบุญฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘


     ฤดูกาลเข้าพรรษาปีนี้ใกล้จะหมดไป จะออกพรรษาอีกไม่กี่วันนี้ ก็เป็นการเตือนกันว่า เราห่างจากเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้านิพพานมากขึ้นอีก ๑ พรรษาแล้ว หรืออีกปีหนึ่งแล้วนั่นเอง

     การที่ต้องบอกต้องเตือนก็เพราะว่า ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้อยู่ภายใต้กฎของอนิจจังความไม่เที่ยง คือ ยิ่งนานไป เวลาผ่านไปเท่าไรก็ห่างจากพุทธกาลมากเท่านั้น ยิ่งห่างจากพุทธกาลมากเท่าไร คำสอนอันแสนวิเศษของพระสัมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งใช้ปราบกิเลสได้ ก็นับวันจะถูกลืมเลือนไป

     ดังนั้น ก่อนจะออกพรรษาก็เป็นเวลาที่เราจะได้มาทบทวนกันว่า ผ่านไปอีกปี ผ่านไปอีกพรรษา เราได้อะไรกันขึ้นมาบ้าง เพราะการเข้าพรรษานั้นเป็นประเพณีของชาวพุทธผู้ไม่ประมาท มิได้จำเพราะเจาะจงว่าเข้าพรรษาแต่เฉพาะพระภิกษุ

     หลักการในพระพุทธศาสนานั้น ฤดูเข้าพรรษาแท้ที่จริงแล้วเป็นฤดูกาลที่ไม่ควรเอาแต่ทำมาหากินเท่านั้น แต่เป็นฤดูกาลแห่งการแก้ไขปรับปรุงตนเอง

     สัตว์โลกทั้งหลายอยู่ได้ด้วยอาหาร ขาดอาหารก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้ามัวแต่ทำมาหากินมาเลี้ยงชีพอย่างเดียวโดยไม่แก้ไขตัวเองให้ดีขึ้นมีความประพฤติอะไรที่ไม่เหมาะสมยังไม่ได้แก้ให้หมดไป ความประพฤติที่ไม่เหมาะไม่ควรเหล่านี้ ก็จะติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปทำลายทำร้ายเราอีก

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเร่งรัดหาวิธีที่จะแก้ไขตัวเอง แล้วก็ต้องหาทางเพิ่มพูนบุญกุศลและเพิ่มพูนนิสัยดี ๆ เพิ่มพูนคุณธรรม ศีลธรรมเข้ามาในตัวอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นต้องได้ทำภาวนาเพื่อกลั่นใจให้ผ่องใส

    ฤดูเข้าพรรษาเป็นฤดูกาลที่เหมาะสมมากสำหรับการแก้ไขตนเองและเพิ่มพูนคุณธรรม คุณวิเศษให้แก่ตน เพราะว่าอุณหภูมิในฤดูนี้ก็แสนสบาย ไม่ร้อนไม่เย็นจนเกินไปเหมาะเหลือเกินที่จะให้เราอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แล้วก็ได้ทำสมาธิ กลั่นกาย กลั่นใจให้ใส ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา

     ใครทำได้เท่าไรก็เกิดเป็นบุญขึ้นในตัวเองมากเท่านั้น บุญมีมากเท่าไร บุญก็กลั่นตัวเองให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นกลายเป็นบารมี สร้างบารมีมากเท่าไร บารมีก็กลั่นตัวยิ่งขึ้นไปอีกกลั่นมากเข้า ๆ ก็กลายเป็นรัศมี ใครสร้างบุญสร้างบารมีมากเข้า ๆ รัศมีก็เปล่งออกมานอกกาย

     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้นต้องสร้างบุญมามาก บุญกลั่นเป็นบารมียิ่งขึ้นบารมีที่สร้างมาก ๆ ก็กลั่นยิ่งขึ้นกลายเป็นรัศมีเมื่อพระองค์สร้างบุญ บารมี รัศมี ทับทวีแล้วทับทวีอีกยิ่ง ๆ ขึ้นไป รัศมีทียิ่ง ๆ ขึ้นไปก็กลั่นไปอีกเป็นกำลังเป็นฤทธิ์ของพระองค์ ส่งเป็นทอดขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงได้มีกำลังเป็นพิเศษกว่าผู้อื่น

     การสร้างบุญบารมีไปตามลำดับ ๆ อย่างนั้น สิ่งที่สำคัญก็คือต้องทำให้ครบทั้ง ๒ ส่วน

     มนุษย์มี ๒ ส่วน คือ ส่วนหยาบกับส่วนละเอียด

     มนุษย์ยังต้องกินข้าว ไม่อย่างนั้นกายเนื้ออยู่ไม่ได้ มนุษย์ยังต้องกิน ต้องใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพราะว่ายังหนาวยังร้อนอยู่ต้องมีบ้านช่องห้องหอ เมื่อถึงคราวเจ็บไข้จำเป็น ต้องใช้หยูกยา สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหยาบที่ต้องมีอยู่

     ในเมื่อส่วนหยาบมีอยู่ และปัจจัย  ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เนื่องด้วยปัจจัย ๔ เหล่านี้ช่วยให้เราอยู่เป็นสุขได้ ช่วยให้เราไม่ป่วยไม่ไข้ ช่วยให้มีเรี่ยวแรงมีพละกำลังที่จะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา กลั่นกาย กลั่นใจให้ได้บุญยิ่งๆ ขึ้นไป

     แต่ส่วนหยาบคือกายของมนุษย์ทุกคนนั้น ประกอบขึ้นมาจากธาตุ  กลายเป้นเซลล์ต่างๆ ของร่างกายที่มีอายุจำกัด เพราะธาตุ ๔ นั่นไม่บริสุทธิ์ อายุของมันเลยสั้น เซลล์ในตัวจึงมีการตายอยู่ตลอดเวลา

     ปัจจัย ๔ ที่นำมาใช้เมื่อสัมผัสถูกต้องกายเข้า สิ่งเหล่านั้นก็สกปรกตามไปด้วย ตัวของเรานับได้ว่าเป็นแหล่งผลิตความสกปรก ตัวเป็นแหล่งผลิตขยะที่ใหญ่ที่สุดของโลกเลยของเรานับได้ว่าเป็นแหล่งผลิตความสกปรก

     การจะสร้างบุญสร้างบารมีนั้น ต้องใช้กายเนื้อที่แข็งแรงจึงจะเอามาใช้สร้างได้ แต่อุปสรรคของกายนี้มีตั้งแต่ต้น คือ มีเซลล์ตายอยู่ตลอดเวลา ทำให้กายสกปรกเป็นนิจ

     เมื่อกายสกปรกเป็นนิจ ถ้ารักษาดูแลไม่ดี ก็แก่เร็ว ป่วยเร็ว แล้วก็จะตายทั้งตัวรวดเร็วกว่าปกติ

     เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนพระภิกษุให้รู้จักรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี ดูแลสุขภาพให้เป็น โดยดูแลผ่านการพิจารณาการใช้ปัจจัย ๔ พระภิกษุจึงถูกเคี่ยวเข็ญให้ดูแลปัจจัย ๔ ให้ดี และใช้ให้เป็น

    ในเรื่องปัจจัย ๔ เสื้อผ้าพระองค์ทรงให้มาชุดเดียว ดีไซน์เดียว เป็นผ้ากาสาวพัสตร์ใช้กันร้อนกันหนาว ไม่ได้มีใช้มากมายอย่างคฤหัสถ์ ที่อยู่อาศัยถ้าศรัทธาสาธุชนไม่มาสร้างให้ คงอยู่โคนไม้หรือกระต๊อบเล็ก ๆ แล้วครัวอาหารก็ย่อเหลือบาตรใบเดียว แล้วก็ออกบิณฑบาต เลิกแล้วซึ่งภาระเรื่องการหุงต้มเพื่อว่าภิกษุทั้งหลายจะได้มีเวลามากขึ้น มีเรี่ยวแรงในการฝึกตัวเองมากขึ้น

    ฝึกตัวเองด้วยการดูแลสุขภาพให้ดีเป็นพิเศษ ฝึกให้ใช้พละกำลังที่เกิดจากข้าวปลาอาหารจากญาติโยมให้เปลี่ยนมาเป็นบุญให้ได้มากเป็นพิเศษ เปลี่ยนมาเป็นสติเป็นปัญญาให้ได้มากเป็นพิเศษ จะได้สู้กับกิเลสได้ แล้วก็มีความสามารถที่จะมาแนะนำญาติโยมให้สู้กับกิเลสตามมาได้อีกด้วย พระกับโยมก็พึ่งพาอาศัยกันอย่างนี้

    ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องการให้มีอายุขัยที่ยืนยาว เวลานั่งสมาธิก็มีกำลังกายที่กระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่อึดอัดแล้วก็ไม่ฟุ้งซ่านอีกด้วย ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้เรื่องสำคัญคืออาหารที่นอกจากต้องถูกหลักอนามัยทั่วไปแล้ว อีก ๔-๕ คำจะอิ่มให้หยุดถ้าไม่หยุดจะเป็นที่มาของโรคภัยไข้เจ็บและความง่วงเหงาหาวนอนต่าง ๆ

    และที่ยิ่งไปกว่านั้น ข้าวแต่ละคำที่เคี้ยวเวลาเคี้ยวเอาใจนิ่ง ๆ วางไว้ที่กลางท้อง พอใจนิ่ง ๆ วางไว้กลางท้อง เดี๋ยวข้าวแต่ละคำที่กลืนลงท้องจะค่อย ๆ กลายเป็นดวงปฐมมรรคผุดขึ้นมา หรือข้าวแต่ละคำที่กลืนลงไป กลายเป็นองค์พระผุดเป็นสายขึ้นมา

    สิ่งนี้สาธุชนก็ฝึกได้ ไม่เฉพาะแต่ภิกษุเท่านั้น พอเราฝึก ถ้าเราแบ่งเวลามาทำสมาธิมากเข้า แล้วก็สังเกตพิจารณาตัวเองให้มากเข้าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น

     ฝึกควบคู่ทั้งหยาบและละเอียดหยาบคือกายเนื้อของเราเคี้ยวข้าวปลาอาหารที่เรากลืนกิน ละเอียดคือใจที่อยู่นิ่ง ๆ ที่ศูนย์กลางกายในที่สุดแล้ว ข้าวปลาอาหารจะกลายเป็นดวงปฐมมรรคผุดขึ้นมา
    ข้าวปลาอาหารแต่ละคำกลายเป้นองค์พระผุดขึ้นมาได้ เมื่อใจกำหนดนิ่งๆ ที่ ศูนย์กลางกาย

     ดังนั้น ไม่ว่าเราใช้ปัจจัย  ใดก็ตาม เราก็ใช้ด้วยความระมัดระวังพร้อมกับกำหนดใจนิ่งๆ ไว้ที่ศูนย์กลางกาย สุขภาพก็จะดีตามมา ปัจจัย  ที่เอามาใช้นั้นก็หล่อหลอมละลายกับบุญที่อยู่ในตัว

     เมื่อฝึกใจไปต่อเนื่อง จากความรู้สึกว่าเราอยู่ในองค์พระ องค์พระอยู่ในตัวเรา แต่พอพิจารณาด้วยใจนิ่ง ๆ มากเข้า ๆ เดี๋ยวเราก็เป็นพระ พระก็เป็นเรา เป็นอย่างนั้นได้จริง ๆ

    ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้เข้าถึงจุดนี้ คือใจเรากับองค์พระเป็นหนึ่งเดียวกัน นอกจากดูแลตัวเองให้ดีแล้ว ปัจจัย ๔ ก็ต้องดูแลให้ดี คือดูแลเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้ดี ดูแลบ้านช่องให้ดี ดูแลข้าวปลาอาหารให้ดี หยูกยาต่าง ๆ ใช้เท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูแลเรื่องรักษาความสะอาดกับความเป็นระเบียบให้ดีจะช่วยให้เรามีและใช้สิ่งเหล่านี้เท่าที่จำเป็น จะไม่ต้องใช้สิ่งของพวกนี้มากเกินเหตุ จะไม่ต้องมีภาระในการทำความสะอาดมากเกินเหตุ

     เ
มื่อสะอาดและมีของไม่มากชิ้นและทำให้ไม่เสียเวลามาก ความรู้สึกหนึ่งจะเกิดขึ้นว่า ตัวเรามีความสะอาดทั้งข้างนอกข้างในในระดับหนึ่งขึ้นแล้ว แล้วใจจรดนิ่ง ๆ เข้าใจจะหยุดนิ่งได้ง่าย แล้วความรู้สึกว่าตัวเราเป็นพระ พระเป็นเราจะเกิดง่ายขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ

     นั่นเป็นเครื่องแสดงว่า ใจเราละเอียดยิ่งขึ้น เริ่มไปสัมผัสกับพระธรรมกายในตัวได้แม้ยังไม่เห็นพระธรรมกาย แต่ความรู้สึกว่าเราเริ่มเป็นพระมันเกิดอย่างนั้นจริง ๆ

     ใครที่เริ่มมีอาการเหล่านี้แล้ว ก็ขอให้ทำต่อไป แล้วก็อย่าสงสัย ทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไปจากนั้นแล้วพระธรรมกายจะผุดขึ้นมา ปรากฏขึ้นมาชัดขึ้น ๆ

     ขอให้ผู้ที่ไม่ประมาท รักการฝึกตนเองมองภาพลำดับการฝึกตัวฝึกใจเหล่านี้ให้ดี แล้วก็ฝึกกันไป ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือเมื่อมาวัด ฝึกทุกย่างก้าวที่เราก้าวไปบนโลกนี้

          - เราก้าวไปถึงไหนจะไม่ไปทำความสกปรกให้กับที่นั้น ๆ

          - เราใช้ของอะไร จะไม่ทำให้สิ่งของเหล่านั้นสกปรกเปรอะเปื้อน

          - เราอยู่ในบริเวณไหน บริเวณนั้นก็ให้สะอาดสะอ้านตลอด

     บรรยากาศที่สะอาดสะอ้านตลอดนี่แหละ ความรู้สึกว่าตัวเรามีองค์พระ องค์พระอยู่ในตัวเราจะเริ่มเกิด แล้วจากนั้นเราเป็นพระพระเป็นเราจะเกิดง่ายยิ่งขึ้น แล้วเมื่อถึงตอนนั้นพระธรรมกายจะเป็นเราขึ้นมาจริง ๆและเรากับพระธรรมกายก็เป็นอันหนึ่งอันเดียว
กันขึ้นมาจริง ๆ


    
ก่อนออกพรรษาครั้งนี้ ด้วยบุญที่ตั้งใจเข้ากะประพฤติปฏิบัติธรรมกันอย่างยิ่งยวดมาตลอดพรรษานี้ ดำเนินชีวิตแบบชาวพุทธผู้ไม่ประมาท ก็ขอให้ทุกท่านจงเข้าถึงพระธรรมกายโดยง่าย แตกฉานวิชชาธรรมกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้โดยง่าย ไปทุกภพทุกชาติ มีบุญ บารมี รัศมี กำลัง ฤทธิ์ ที่ยิ่ง ๆขึ้นไป ตามติดมหาปูชนียาจารย์ท่านไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมโดยไม่พลัดไม่พราก ไม่ตกไม่หล่นได้เป็นอัศจรรย์ทุกท่านทุกคน เทอญ