วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ผลแห่งการชวนคน>>ให้รู้จักพระรัตนตรัย!!!

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“ปุญฺญฺเจ ปุริโส กริยา     กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
      ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ         สุโข ปุญฺสฺส อุจฺจโย
     หากว่าบุคคลจะพึงทำบุญไซร้ ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมบุญนำสุขมาให้”

     คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นนิยยานิกธรรม สามารถนำพาผู้ปฏิบัติให้หลุดพ้นจากความทุกข์ เข้าถึงเอกันตบรมสุขอย่างแท้จริงได้ หากเราปรารถนาความสุขและความสำเร็จก็ต้องประกอบเหตุแห่งความสำเร็จ 

     เพราะฉะนั้น ท่านถึงสอนว่าเมื่อจะทำบุญ ควรทำให้เต็มที่เต็มกำลังสุดความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นบุญที่เกิดจากการทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ(Meditation)ภาวนา หรือบุญอะไรก็ตาม แต่ต้องฝึกตั้งผังแห่งความสำเร็จ เป็นคนที่ทำอะไรแล้วทำจริง ไม่ใช่ทำๆ หยุดๆ 

     ปัจจุบันนี้ มีหลายท่านกำลังสวมหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์ ทำหน้าที่เป็นยอดนักสร้างบารมีผู้มีจิตใจสูงส่ง  ทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตร ชักชวนคนให้มาฟังธรรม ทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา โดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น

     การทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรนี้ จึงเป็นหน้าที่อันทรงเกียรติและจะเป็นเกียรติประวัติชีวิตอันงดงาม เมื่อใดที่เราสามารถทำใจหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ แล้วย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์อันงดงามของตัวเองได้ ความปลื้มปีติจะบังเกิดขึ้น จะปีติและภาคภูมิใจในตัวเองทีเดียวว่าเราได้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ก็ทำได้สำเร็จมาแล้ว



     * เหมือนในสมัยพุทธกาล สันตติมหาอำมาตย์ ได้ฟังธรรมเพียงบทเดียว ก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔ ตั้งแต่เป็นคฤหัสถ์ 

      ท่านระลึกชาติไปดูว่าได้ทำความดีอะไรไว้ จึงทราบว่า 

     ในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิปัสสี ท่านบังเกิดในตระกูลสัมมาทิฎฐิ ในพันธุมดีนคร ได้เที่ยวชักชวนป่าวประกาศต่อมหาชนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ให้ทำบุญกุศลกัน อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

     ผลแห่งการทำหน้าที่ชักชวนคนให้ทำความดีครั้งนั้น ทำให้มีมหาชนทั้งใกล้และไกลได้พบเส้นทางสายกลาง  ได้รู้จักทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา

     เมื่อได้รับฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็บรรลุธรรมกันเป็นจำนวนมากมายทีเดียว ส่วนหนุ่มน้อยท่านนี้ ได้รับพระราชทานทรัพย์สมบัติและเครื่องประดับจากพระราชาเป็นอันมาก และพระราชทานช้าง ๑ เชือกเป็นพาหนะใช้ในการสร้างบารมี

     ท่านได้ประดับเสื้อผ้าอาภรณ์ทุกอย่าง นั่งบนคอช้างทำการป่าวร้องให้มหาชนได้เห็นคุณค่าของพระรัตนตรัยอยู่นานถึงแปดหมื่นปี 

     เมื่อละโลกไปแล้ว ทำให้ได้ไปสู่สุคติสวรรค์มีวิมานใหญ่โตมโหฬาร รัศมีกายสว่างไสว และที่พิเศษ คือมีกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากกายของท่าน 



    กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปาก มีกลิ่นปากหอมทุกภพทุกชาติ เพราะผลบุญที่ได้ทำหน้าที่บอกข่าวอันเป็นสิริมงคล เพื่อให้ทุกคนมาฟังธรรม และเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัว 

     ภพชาตินี้ทำให้ท่านได้บรรลุธรรมหมดกิเลสตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างง่ายดาย

     นี่ก็เป็นตัวอย่างของนักสร้างบารมีในสมัยก่อน ที่ได้อุทิศตนเพื่องานพระศาสนา เป็นประดุจทหารกล้ากองทัพธรรม ย่ำธรรมเภรีให้สรรพสัตว์ได้ตื่นจากความหลับใหล 

      และพบแสงสว่างแห่งธรรม ท่านทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้เราได้ศึกษาเป็นแนวทางกันแล้ว เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนก็ควรจะดำเนินตามปฏิปทาของท่าน เพื่อบุญบารมีของเราเอง และเพื่อสันติสุขอันแท้จริงของมวลมนุษยชาติ

     บุญควรสั่งสมกันบ่อยๆ เพราะจะเป็นเหตุให้เราประสบความสุขและความสำเร็จในชีวิต และยังเป็นพลวปัจจัยให้เราไปถึงที่สุดแห่งธรรมได้โดยไม่ยาก เมื่อตัดสินใจเป็นนักรบกองทัพธรรมแล้ว ให้ทุ่มเทกันให้เต็มที่ สร้างบารมีให้ชนิดเป็นบุญบันเทิงกัน ทั้งมนุษย์ และเทวดาจะได้อนุโมทนาสาธุการ  



     เพราะฉะนั้นให้ไปชักชวนกันเข้าวัดฟังธรรม เพื่อให้เขาได้มารู้จักพระรัตนตรัย และหมั่นทำความบริสุทธิ์ ด้วยการฝึกใจของเราให้หยุดนิ่ง ให้ได้ทุกๆวัน การที่เราชักชวนคนให้มารู้จักและยึดเอาพระรัตนตรัย จะปลอดภัยข้ามชาติ เราจะได้เข้าถึงความสุขภายใน เข้าถึงพระธรรมกาย มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่ง

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  

* มก. เล่ม ๔๒ หน้า ๑๑๖

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ไม่คบคนพาล - คนพาลไม่ต้องการเหตุผล

    
ฟ้ากับดินไกลกัน ฝั่งสมุทรก็ว่าไกลกัน ที่ๆ ดวงอาทิตย์ อุทัย กับที่ๆ ดวงอาทิตย์อัสดงก็ไกลกัน ธรรมของสัตบุรุษ   กับธรรมของอสัตบุรุษ ปราชญ์กล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้น    การสมาคมแห่งสัตบุรุษย่อมไม่เสื่อมคลาย จะนานเท่าใดๆ ก็คงที่อยู่เช่นนั้น  ส่วนสมาคมแห่งอสัตบุรุษย่อมพลันเสื่อม เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษจึงไกลจากอสัตบุรุษ

        ชีวิตในวันหนึ่งๆ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ เหมือนน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หรือเหมือนหยาดน้ำค้างบนปลายยอดหญ้าเมื่อยามต้องแสงอาทิตย์ ไม่นานก็เหือดแห้งหายไป ชีวิตของคนเราก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมสลายอย่างรวดเร็ว และในที่สุดก็ถึงกาลอวสาน ช่วงเวลาของชีวิตที่เราจะได้สร้างบารมีนั้น สั้นนิดเดียว เราจึงไม่ควรประมาท พึงเร่งทำความเพียรสั่งสมบุญกุศลให้เต็มที่ เพื่อจะได้ไปถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตโดยสวัสดิภาพ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สุวิทูรสูตร ว่า

"นภญฺจ ทูเร ปฐวี จ ทูเร        ปารํ สมุทฺทสฺส ตทาหุ ทูเร
ยโต จ เวโรจโน อพฺภุเทต        ปภงฺกโร ยตฺถ จ อตฺถเมติ
ตโต หเว ทูรตรํ วทนฺต        สตญฺจ ธมฺมํ อสตญฺจ ธมฺมํ
อพฺยายิโก โหติ สตํ สมาคโม        ยาวมฺปิ ติฏฺเฐยฺย ตเถว โหติ 
ขิปฺปํ หเวติ อสตํ สมาคโม        ตสฺมา สตํ ธมฺโม อสพฺภิ อารกา

        ฟ้ากับดินไกลกัน ฝั่งสมุทรก็ว่าไกลกัน ที่ๆ ดวงอาทิตย์อุทัย กับที่ๆ ดวงอาทิตย์อัสดงก็ไกลกัน ธรรมของสัตบุรุษ กับธรรมของอสัตบุรุษ ปราชญ์กล่าวว่าไกลกันยิ่งกว่านั้น การสมาคมแห่งสัตบุรุษย่อมไม่เสื่อมคลาย จะนานเท่าใดๆ ก็คงที่อยู่เช่นนั้น ส่วนสมาคมแห่งอสัตบุรุษย่อมพลันเสื่อม เพราะฉะนั้น ธรรมของสัตบุรุษจึงไกลจากอสัตบุรุษ"

        หากเรารู้ว่า มีผู้ไม่ปรารถนาดี เจตนาจะประทุษร้ายเรา ให้เราหลีกเว้นเสีย เพราะเขาจะไม่คำนึงถึงเหตุผลความถูกต้อง จรรยาบรรณ หรือจริยธรรมใดๆทั้งสิ้น แม้เราจะกล่าวคำสุภาษิต มีถ้อยคำที่ดีมาอธิบายให้ฟัง เขาก็จะไม่ยอมรับ เพราะใจของเขาปิด ใจของเขาคิดแต่วิธีการที่จะประทุษร้าย เบียดเบียนเราเท่านั้น ผู้รู้ท่านจึงสอนให้พยายามหลีกเว้นบุคคลประเภทนี้ให้ไกลที่สุด อย่าได้ไปทำความสนิทชิดเชื้อด้วย เพราะจะเป็นทางมาแห่งความเสื่อมเสียแก่ตัวของเราเอง

        สมัยที่พระบรมโพธิสัตว์ยังสร้างบารมีอยู่ เวลามีผู้ทรงคุณธรรมมาให้พร ท่านมักจะขอพรว่า ขอให้อย่าได้เห็น อย่าได้ฟังคนพาล อย่าได้อยู่ร่วมกับคนพาล และจะไม่ขอร่วม ไม่ขอชอบใจในการเจรจาปราศรัยกับคนพาล เพราะว่าคนพาลมีปัญญาทราม จะคอยชี้นำแต่สิ่งที่ไม่ควร แนะนำแต่สิ่งที่เป็นบาปอกุศล ชอบชักชวนให้ทำในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ ไม่เกิดประโยชน์ ถึงจะพูดดีด้วยก็โกรธ และไม่ยอมรับรู้วินัย ระบบระเบียบที่ดีงามต่างๆ การไม่เห็นคนพาลจึงเป็นสิ่งประเสริฐ

        นอกจากนั้นท่านยังขอให้ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังนักปราชญ์บัณฑิต ขออยู่ร่วมกับผู้รู้ทั้งหลาย ท่านจะพึงพอใจในการกระทำ และเจรจาปราศรัยกับนักปราชญ์ เพราะจะได้แต่คำแนะนำที่ดีมีประโยชน์ จะไม่ถูกชักนำไปในทางเสื่อม จะทำแต่สิ่งที่มีสาระแก่นสารเป็นกรณียกิจ

        คำแนะนำสิ่งดีทั้งหลายเป็นความดีของนักปราชญ์ ซึ่งเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ เป็นผู้มีวินัยในตนเอง การได้สมาคมคบหากับนักปราชญ์ จึงเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของบัณฑิต

        ดังนั้น หากเรารู้ว่า ใครเป็นคนพาล เราควรรีบหลีกหนีให้ห่างไกล เพราะยิ่งอยู่ร่วมกันนาน จะยิ่งติดเชื้อพาล ซึ่งมีแต่จะนำความวิบัติความเสื่อมเสียมาให้ เหมือนดังเรื่องของแม่แพะ   ที่พูดจาอ่อนหวาน แต่ในที่สุดก็ต้องถูกเสือจับกินเป็นอาหาร

        *เรื่องมีอยู่ว่า มีเสือเหลืองตัวหนึ่งกำลังรอดักจับแพะที่ชอบเที่ยวหากินตามลำพัง มันสังเกตเห็นแม่แพะตัวหนึ่ง กินใบไม้ใบหญ้าออกห่างจากฝูง จึงคิดที่จะกินแม่แพะตัวนี้ มันรีบวิ่งไปยืนดักหน้าไว้ แทนที่แม่แพะจะรีบวิ่งกลับเข้าไปในฝูง มันกลับอยากสนทนากับเสือเหลือง เพราะคิดว่า "ถ้าหากเราเจรจาไพเราะอ่อนหวาน เสือเหลืองตัวนี้อาจจะเป็นมิตร แล้วปล่อยเราไปอย่างง่ายดายก็เป็นได้"

        แม่แพะจึงไม่หนีไปไหน ทำเป็นใจดีสู้เสือ ทำการปฏิสันถาร กับเสือเหลืองเป็นอย่างดี ด้วยการพูดจาปราศรัยอย่างไพเราะอ่อนหวานว่า "คุณลุง ท่านยังคงสบายดีอยู่หรือ ยังพอจะให้อัตภาพเป็นไปได้ดีอยู่ไหม มารดาของฉันได้ถามถึงทุกข์สุข    ของท่าน เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านมีความสุขเหมือนกัน"
         เสือเหลืองได้ฟังดังนั้น แทนที่จะชื่นใจมันกลับไม่ได้ใส่ใจกับ    คำเหล่านั้น คิดเพียงแต่จะต้องขย้ำแพะตัวนี้ให้ได้ อย่างไรก็ดีเพื่อไม่ให้เกิดคำครหานินทาในภายหลัง จึงได้กุเรื่องขึ้นมาว่า

        "แน่ะแม่แพะ เจ้ามารังแกเราก่อน มาเหยียบหางของเราทำไมหรือ วันนี้เจ้าสำคัญว่า เจ้าแน่กว่าเรา เจ้าไม่มีทางพ้นจากความตายไปได้หรอก อย่ามาเรียกเราว่าคุณลุงเลย"

        แม่แพะได้ฟังดังนั้น รีบกล่าวว่า "ข้าแต่ท่านลุง ท่านนั่ง    หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนฉันนั่งอยู่ต่อหน้าท่าน แล้วฉันจะไปเหยียบหางของท่านซึ่งอยู่ด้านหลังได้อย่างไรกัน"

        เสือเหลืองหาเรื่องต่อว่า "แน่ะแม่แพะ เจ้าพูดอะไร สถานที่ที่จะพ้นจากหางของเราไปไม่มีหรอก เพราะว่า ทวีปทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินหรือมหาสมุทรอันเวิ้งว้างกว้างใหญ่ มีภูเขาสูงใหญ่ประมาณเท่าใด เราได้เอาหางของเราไปวางไว้ในที่นั้นหมดแล้ว เจ้าจะพ้นจากที่ที่เราเอาหางวางไว้ได้อย่างไร"

        แม่แพะคิดว่า "เสือเหลืองตัวนี้ มีจิตใจหยาบช้านัก    ฟังวาจาสุภาษิตแล้วไม่ซึมเข้าไปในใจเลย แถมยังตลบตะแลง     มีเจตนามุ่งแต่จะทำร้ายเราอย่างเดียว"

        แม่แพะจึงลองกล่าวเลี่ยงเป็นอย่างอื่นว่า "ในกาลก่อน   พ่อแม่ของฉันได้บอกความเรื่องนี้แก่ฉันแล้วว่า หางของท่านนั้นยาวนัก ฉันจึงเหาะมาทางอากาศ เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ฉันจะเหยียบหางของท่านเจ้าป่า" 
        เสือเหลืองยังหาเรื่องต่ออีกว่า "ตอนที่เจ้ามาทางอากาศ เจ้าได้ทำให้ภักษาหารของเราพินาศไป เพราะฝูงเนื้อเห็นเจ้าเหาะมา เกิดความตกใจกลัว พากันวิ่งหนีไปหมด ฉะนั้นเจ้าจึงมีความผิด โทษฐานที่ทำให้หมู่เนื้อหนีไป"

        แม่แพะได้ฟังดังนั้น รู้ทันทีว่า เสือใจบาปตัวนี้คงไม่ปล่อยให้ตนรอดแน่ เมื่อไม่อาจยินยอมกันด้วยเหตุผล จึงขอร้องวิงวอนว่า "ข้าแต่ลุง เราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน อย่าได้ทำลายล้างผลาญกันเลย จะได้ไม่มีเวรต่อกัน   ขอให้ท่านจงไว้ชีวิตแม่แพะแก่ๆ อย่างฉันเถิด"

        แต่เสือเหลืองไม่ยอมฟังคำ มันกระโดดเข้าตะครุบแม่แพะ ทันที จนแม่แพะถึงแก่ความตาย ตกเป็นอาหารของเสือเหลืองในที่สุด

        เพราะฉะนั้น ความปรารถนาดีไม่มีในหมู่คนพาล จะไปหาความจริงใจจากคนพาลนั้นไม่ได้เลย ไม่ว่าเราจะใช้เหตุผลอย่างไร ความจริงทั้งหลายกลับถูกบิดเบือน ทำให้คนที่บริสุทธิ์ คนที่ถูกกลายเป็นคนผิดไป แม้ความจริงจะปรากฏว่าถูกต้อง แต่คนพาลจะแกล้งกล่าวหาเรื่องที่ไม่มีมูลขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกร่ำไป ไม่รู้จักจบสิ้น ตราบใดที่เขายังเป็นพาล เพราะฉะนั้น คนโบราณจึงได้สอนเตือนใจไว้ว่า "ห่างสุนัขให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างพาลาให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์"

        ตรงกันข้ามกับการคบหาบัณฑิต ซึ่งแม้เจอกันเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้ชีวิตสว่างไสว พบกับความสุขความเจริญรุ่งเรืองได้ แต่การคบคนพาลแม้ครั้งเดียวก็เสียหายแล้ว ยิ่งสมาคมกันหลายๆ ครั้ง ยิ่งเสียหายลุกลามใหญ่โตหนักขึ้น ไม่ได้ประโยชน์ ไม่มีสาระอะไร นำแต่ทุกข์แต่โทษมาให้ ผู้รู้จึงกล่าวว่า ใครคบคนเช่นไร จักเป็นเช่นนั้นแหละ คนฉลาดจึงควรคบหากับบัณฑิต มีบัณฑิตเป็นกัลยาณมิตร และให้หมั่นทำความสนิทสนมกับคนดีมีคุณธรรมให้มากๆ เพราะจะเป็นเหตุให้เราพบแต่สิ่งที่ดีงาม

        มีธรรมภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ท้องฟ้าและแผ่นดิน ชาวโลกถือกันว่าอยู่ไกลกัน สองฟากฝั่งแห่งมหาสมุทร เขากล่าว กันว่าอยู่ไกลกัน ส่วนธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ไกลกันยิ่งกว่านั้น ราชรถอันวิจิตรตระการตา ยังมีวันเก่าคร่ำคร่า สรีระร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน สักวันหนึ่งจะต้องถึงความแก่ชรา  แต่ธรรมะของสัตบุรุษผู้สมบูรณ์ ด้วยศีล สมาธิ(Meditation) ปัญญา ไม่มีวันเก่าคร่ำคร่า

        ดังนั้น ให้ทุกคนยินดีในธรรมของสัตบุรุษ หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมให้สม่ำเสมอทุกๆ วัน ปฏิบัติธรรมให้ได้ทั้งครอบครัว ให้เป็นครอบครัวธรรมกาย เป็นบ้านกัลยาณมิตร ที่สว่างไสวด้วยแสงธรรม บ้านแห่งสันติสุข ที่เป็นประดุจวิมานในเมืองมนุษย์ ถ้าทำกันได้อย่างนี้ คือ  ทุกหลังคาเรือน มีการปฏิบัติธรรมร่วมกัน ความสงบสุขร่มเย็น ก็จะเกิดขึ้นในบ้านเมืองไม่ช้าสันติสุขจะ  แผ่ขยายไปทั่วโลก ดังนั้นให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมให้ดีกันทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

*มก. ทีปิชาดก  เล่ม ๕๙ หน้า ๕๙๖
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจ WWW.DMC.TV  ข้อมูลภาพจาก Google.com

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

ปล่อยสัตว์ปล่อยปลาต่ออายุให้ยืนยาว...

เรื่องเกี่ยวกับการปล่อยปลาของสามเณรสังกิจจะ



      "ครั้งพุทธกาล  มีสามเณรรูปหนึ่ง  นามว่า  สามเณรสังกิจจะเป็นศิษย์ของพระสารีบุตรพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า และเป็นสามเณรขีณาสพ ครั้งนั้นพระสารีบุตรเข้าฌานก็หยั่งเห็นอันตรายที่จะเกิดแก่สามเณร พอออกจากฌานแล้วจึงบอกสามเณรว่า “สามเณรเธอเข้าใจถึงกฎแห่งความไม่เที่ยงนะมีเกิดแก่เจ็บตาย และบัดนี้อายุขัยของเธอก็ใกล้เข้ามาแล้วเธอจะมีอายุอยู่ได้อีกเพียง 7 วันเท่านั้น”

      สามเณรได้ฟังเช่นนั้นก็เข้าใจกฎไตรลักษณ์ จึงขอไปบอกลาบิดามารดา เมื่อพระสารีบุตรอนุญาตแล้ว สามเณรจึงรีบเดินทางกลับมาตุคาม ในระหว่างทางอากาศร้อนมีเปลวแดดแผดเผา สามเณรประสบพบหนองน้ำแห่งหนึ่งใกล้แห้งขอดฝูงปลากุ้งหอย และสัตว์น้ำจำนวนมากดิ้นทุรนทุรายรอความตาย สามเณรคิดว่า ชะตากรรมของปลาก็เหมือนกับของตนกำลังดิ้นรนใกล้สิ้นใจมาทุกขณะ นึกได้ดังนั้นจึงใช้จีวรช้อนเอาสัตว์น้ำนานาชนิดทั้งหมดพาไปยังหนองน้ำใหญ่ที่มีน้ำอยู่มากปล่อยฝูงปลานั้นไปแล้วก็เดินจากไป และได้ช่วยชีวิตสัตว์อื่นๆ อีก มีสัตว์ปีก และเก้งเป็นต้นในระหว่างทางนั้น

     สามเณรไปบอกข่าวแก่บิดามารดาว่าพระอาจารย์สารีบุตรได้พยากรณ์ไว้ว่า ชีวิตนี้หมดบุญภายใน 7 วันเท่านั้นบิดามารดาต่างก็โศกเศร้าเสียใจสามเณรปลอบประโลมว่าเป็นไปตามบุญกรรมแล้วรีบกลับสำนัก ครั้นอยู่มาจนครบ 7 วันแล้วสามเณรก็ยังเป็นปกติไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยหรือประสบอุปัทวันตรายถึงแก่ชีวิต

     สามเณรตั้งใจจะไปกราบเรียนถามพระสารีบุตร ขณะนั้นพระพุทธองค์ทรงเจ้าฌานหยั่งรู้ถึงความเป็นมา จึงทรงเรียกสามเณรมาสอบถามแล้วตรัสท่ามกลางพระสงฆ์สาวกถึงมูลเหตุที่พระสารีบุตรทำนายว่า สามเณรจะหมดอายุขัยใน 7 วันนั้นถูกต้องแล้วแต่เพราะเหตุใดจึงยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้เป็นเพราะเกิดจากบุญกุศลที่สามเณรได้ช่วยเหลือสัตว์น้ำนานาชนิดสัตว์ปีกและเก้งเหล่านั้นอันเป็นปลาและเก้งพระโพธิสัตว์

      ต่อมาพระสารีบุตรก็บอกสามเณรว่า “อานิสงส์จากการทำบุญให้ทานชีวิตสัตว์ นอกจากจะช่วยให้รอดพ้นจากมัจจุราชแล้วผลบุญยังจะทำให้เธอมีอายุยืนยาว” ซึ่งภายหลังการนิพพานของพระสารีบุตรและการปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามเณรสังกิจได้มีชีวิตอยู่ต่อมาถึง 120 ปี"

   จากเรื่องดังกล่าว จึงทำให้คนนิยมทำบุญสะเดาะเคราะห์ด้วยการปล่อยนก ปล่อยปลา หรือให้ชีวิตสัตว์อื่นๆ เป็นทาน และยังมีอีกสิ่งหลายๆ ปัจจัยที่ขาดไม่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนั้น เราต้องรักษาศีลให้ได้เป็นปกติ อย่างน้อยคือ ศีล 5 ซึ่งการรักษาศีลนั้นจะเป็นเกาะป้องกันอันตรายจากรอบทิศให้กับเราได้อย่างแท้จริง








ขอขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.dmc.tv www.google.com

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2559

อานุภาพแห่งความจริง

        ใจที่มีความบริสุทธิ์ สามารถสร้างแรงกาย แรงวาจา และแรงใจได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ 

        ใจดวงนี้เมื่อฝึกดีแล้ว จะเกิดอานุภาพอย่างที่ใครๆ ไม่อาจคาดคิดได้ และคิดไม่ถึง ดังนั้นให้เราหมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกๆ วัน ใจที่บริสุทธิ์ด้วยความดี แม้ละโลกไปก็ยังได้ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้หมู่ญาติและบิดามารดา เพราะหากบุคคลทำหน้าที่ของตนที่ได้เกิดมาอย่างเต็มที่แล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนในกาลภายหลัง




        มีวาระพระบาลี ขุททกนิกาย วัฏฏกชาดก ความว่า

                     "สนฺติ ปกฺขา อปตนา      สนฺติ ปาทา อวญฺจนา
                      มาตา ปิตา จ นิกฺขนฺตา   ชาตเวท ปฏิกฺกม

     ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเรามีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเราออกไปหาอาหาร ดูก่อนไฟป่า ท่านจงถอยกลับไปเถิด"


        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราเป็นผู้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ พระองค์เป็นบรมครูที่สั่งสมอบรมบ่มบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน บารมีที่พระองค์สั่งสมมาคือ บารมี ๑๐ ทัศ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีมามากจากบารมีธรรมดาก็กลายเป็นอุปบารมี และจากอุปบารมีก็กลายเป็นปรมัตถบารมี ซึ่งเป็นบารมีขั้นสุดท้ายในการบำเพ็ญเพียรจนมาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมครูของพวกเราทั้งหลาย

        โอกาสนี้หลวงพ่อจะขอแสดงเรื่องสัจจบารมี สัจจะคือความจริงที่เป็นสิ่งไม่ตาย เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกันเราให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ได้ และเป็นคุณธรรมที่ดีเลิศในการฝึกฝนอบรมตนเป็นคนจริง ดังเรื่องในสมัยพุทธกาล

       * ครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จบิณฑบาตในหมู่บ้านชาวมคธแห่งหนึ่ง หลังจากที่พระองค์บิณฑบาต และเสวยภัตตาหารแล้ว มีภิกษุสงฆ์แวดล้อม ได้เสด็จดำเนินไปสู่หนทาง ในระหว่างทางเกิดไฟป่าไหม้ลุกลามขึ้น เมื่อภิกษุทั้งหลายเห็นไฟที่มีควันเป็นกลุ่มใหญ่ มีเปลวสูงถึงปลายยอดไม้ กำลังลุกลามทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ทำให้ภิกษุที่เป็นปุถุชนต่างหวาดกลัวต่อมรณภัยจึงพูดขึ้นว่า “พวกเราจะจุดไฟเผาเพื่อตัดทางไฟ” เหล่าภิกษุพากันนำหินเหล็กไฟออกมาจุดไฟ

        “ฝ่ายภิกษุอีกพวกหนึ่งกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านทำอะไรกัน พวกท่านไม่เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศในโลกกับทั้งเทวโลกหรือ ผู้เสด็จมาพร้อมกับพวกท่านทั้งหลาย พวกท่านเสมือนคนไม่เห็นดวงจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่ในท้องฟ้า ไม่เห็นดวงอาทิตย์รุ่งเรืองด้วยรัศมีอันมีกำลังตั้งพันขึ้นทางด้านทิศตะวันออก เสมือนคนที่ยืนอยู่ที่ริมฝั่งทะเลแต่มองไม่เห็นทะเล หรือเสมือนคนยืนพิงเขาสิเนรุ แต่ไม่เห็นเขาสิเนรุฉะนั้น”

        ภิกษุพวกแรกต่างพากันกล่าวอีกว่า “เราจะช่วยกันจุดไฟเพื่อตัดทางไฟ” ภิกษุขีณาสพจึงกล่าวว่า “ขึ้นชื่อว่ากำลังของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีประมาณ พวกท่านไม่รู้หรือ มาเถิดท่าน พวกเราจะไปยังสำนักของพระบรมศาสดากัน”

        ภิกษุสงฆ์พร้อมใจกันไปเฝ้าพระบรมศาสดาซึ่งทรงประทับยืนอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นไฟป่ากำลังไหม้ส่งเสียงดังใกล้เข้ามาทุกขณะ เสมือนจะเผาไหม้สถานที่แห่งนั้นให้วอดวายไปในพริบตา แต่ครั้นไฟป่าลุกลามมาถึงสถานที่ที่พระพุทธองค์ประทับยืนอยู่ในระยะประมาณ ๑๖ กรีส ไฟป่าก็ดับสนิทในทันที เหมือนคบไฟที่จุ่มลงในน้ำฉะนั้น

        เหล่าภิกษุเห็นเช่นนั้น ต่างพากันกล่าวสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “น่าอัศจรรย์จริง ชื่อว่าอานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไฟนี้แม้ไม่มีจิตยังไม่ไหม้สถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ได้ ย่อมดับไปเหมือนคบเพลิงหญ้าถูกดับด้วยน้ำฉะนั้น น่าอัศจรรย์จริง ชื่อว่าพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีประมาณ”

        เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้วจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ไฟป่านี้ไหม้มาถึงสถานที่ประเทศนี้แล้วดับไป เป็นกำลังของเราในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ ข้อนี้เป็นกำลังแห่งความมีสัจจะที่มีในกาลก่อนของเราตถาคต จริงอยู่ ประเทศนี้ไฟจะไม่ไหม้ตลอดกัปนี้ นี้ชื่อว่าปาฏิหาริย์ตั้งอยู่ตลอดกัป” ขณะนั้นพระอานนท์เถระได้ปูลาดสังฆาฏิ ๔ ชั้น เพื่อทำเป็นสถานที่สำหรับประทับนั่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นพระองค์ประทับนั่งขัดสมาธิ (Meditation) ซึ่งมีภิกษุสงฆ์นั่งแวดล้อม ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

        ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในกำเนิดนกคุ่มในสถานที่แห่งนี้  เมื่อพระโพธิสัตว์ได้ทำลายกะเปาะฟองไข่ออกมาดูโลกได้ไม่นาน ลูกนกคุ่มมีตัวประมาณเท่าดุมเกวียนที่บรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และวันนั้นมารดาบิดาได้ออกไปหาอาหาร ปล่อยทิ้งพระโพธิสัตว์ที่ไม่มีกำลังแม้แต่จะเหยียดปีกบินไปในอากาศ ไม่มีแม้กำลังที่จะยกเท้าเดินได้

        ปกติเมื่อถึงฤดูร้อนของทุกๆ ปี ไฟป่ามักเผาไหม้สถานที่แห่งนี้เป็นประจำ ช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูร้อนพอดี และเป็นความพอดีอีกเช่นกันที่ไฟป่ากำลังเผาไหม้ลุกลามส่งเสียงดังลั่นใกล้เข้ามาทุกขณะ หมู่นกรีบบินออกจากรังของตนเพราะต่างกลัวมรณภัย พากันส่งเสียงร้องหนีไฟป่ากันจ้าละหวั่น แม้แต่มารดาบิดาของพระโพธิสัตว์เอง ก็กลัวต่อมรณภัย พากันทอดทิ้งท่าน รีบบินหนีไปยังสถานที่อื่นเช่นกัน

        พระโพธิสัตว์นอนอยู่ในรังของตน ได้แต่ชะเง้อคอมองดูไฟป่าที่กำลังไหม้ลุกลามเข้ามาทุกขณะ พลางคิดว่า หากเรามีกำลังที่จะกางปีกออกบินไปในอากาศ เราก็จะโบยบินไปในสถานที่อื่น หากเราพึงมีกำลังที่จะยกเท้าเดินหนีไปได้ เราก็จะย่างเท้าหนีไปยังสถานที่อื่นเสีย ส่วนมารดาบิดาของเราต่างกลัวมรณภัย พากันทิ้งเราไว้แต่ผู้เดียว บัดนี้ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี ที่ต้านทานก็ไม่มี วันนี้เราจะทำอย่างไรดีหนอ

        ขณะนั้นพระโพธิสัตว์เกิดความคิดขึ้นว่า ชื่อว่าคุณแห่งศีลมีอยู่ในโลก ชื่อว่าคุณแห่งสัจจะก็ย่อมมี ในอดีตกาลพระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้บำเพ็ญบารมีเต็มเปี่ยมแล้วทั้งหลาย ทรงประทับนั่งที่พื้นใต้ต้นโพธิ์ ได้ตรัสรู้แล้วเองโดยชอบ พระองค์ทรงเพียบพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ทรงประกอบด้วยสัจจะ ความเอ็นดู ความกรุณา และขันติ คุณธรรมทั้งหลายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงให้แจ่มแจ้งแล้วย่อมมีอยู่ ก็สัจจะสักอย่างหนึ่งย่อมมีอยู่ในตัวเราเช่นกัน สภาวธรรมอย่างหนึ่งก็ย่อมมีอยู่ เพราะฉะนั้น เราจะรำลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และคุณที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงรู้แจ้งแล้ว”

        พระโพธิสัตว์จึงระลึกถึงคุณธรรม และสัจจะความดีเหล่านั้น ได้กระทำสัจกิริยาให้ไฟป่าจงถอยกลับไป เพื่อกระทำความปลอดภัยแก่ตน และหมู่นกที่เหลือที่ไม่สามารถเอาตัวรอดไปได้ ด้วยการทำสัจกิริยาว่า “คุณแห่งศีลมีอยู่ในโลกนี้ ความสัตย์ ความสะอาด และความเอ็นดูมีอยู่ในโลกนี้ ด้วยความสัตย์นี้ ข้าพเจ้าขอทำสัจกิริยาอันยอดเยี่ยม ข้าพเจ้าได้พิจารณากำลังแห่งธรรม ได้ระลึกถึงพระชินเจ้าทั้งปวงในปางก่อน อาศัยกำลังสัจจะนี้ ข้าพเจ้าขอทำสัจกิริยา”

        เมื่อพระโพธิสัตว์ระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว และคุณที่มีอยู่ในตน จึงกล่าวอีกว่า “ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไปไม่ได้ เท้าทั้งสองของเรามีอยู่ แต่ก็เดินไปไม่ได้ มารดา และบิดาของเราออกไปหาอาหาร ดูก่อนไฟป่า ท่านจงถอยกลับไปเสียเถิด”

        ด้วยอานุภาพแห่งสัจจบารมีของพระโพธิสัตว์ ไฟป่าก็ไม่สามารถเผาไหม้บริเวณนั้นประมาณ ๑๖ กรีส แต่ไฟป่ากลับไหม้เลยไปในสถานที่แห่งอื่น

        พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่ไฟไม่ไหม้สถานที่แห่งนี้ ด้วยกำลังของเราในบัดนี้ก็หาไม่ แต่เป็นกำลังเก่า เป็นอานุภาพพลังแห่งสัจจบารมีในสมัยที่เราเป็นลูกนกคุ่ม” ครั้นจบพระธรรมเทศนา ภิกษุบางพวกได้เป็นพระโสดาบัน บางพวกได้เป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นพระอนาคามี และบางพวกได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

        จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าการมีสัจจะนั้นเป็นคุณธรรมที่สูงส่งมีอานุภาพมากมายมหาศาล และเป็นหนึ่งในบารมี ๑๐ทัศ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงบำเพ็ญมาแล้วในสมัยที่พระองค์เป็นพระบรมโพธิสัตว์ พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีเหล่านี้อย่างเต็มที่ตลอดมา

        ดังนั้นพวกเราเหล่านักสร้างบารมี พึงฝึกฝนอบรมคุณธรรม ในเรื่องความมีสัจจะนี้ให้ดี เพราะว่าการมีสัจจะจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เป็นคนดีหรือไม่ดี และสัจจะคือความจริงที่เราจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอนั้น คือ การจริงต่อความดี หมั่นทำความดีให้เต็มที่ เพราะความดีไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เต็มที่ เพราะสิ่งนี้เป็นหน้าที่ที่แท้จริงของเรา เมื่อเราจริงต่อความดีแล้ว แม้จะมีอุปสรรคปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น เราย่อมสามารถอาศัยความดีและบุญนั้น ช่วยให้เราฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นไปได้โดยง่ายดาย ขอให้เราตั้งใจสั่งสมบารมีให้เต็มที่กันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๕๕ หน้า ๓๔๒

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559

ความชั่วแม้เพียงเล็กน้อย..ไม่ควรทำ!


       วาระพระบาลีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน อุปสิงฆบุปผชาดก ความว่า

                    “อนงฺคณสฺส โปสสฺส   นิจฺจํ สุจิคเวสิโน
                     วาลคฺคมตฺตํ ปาปสฺส   อพฺภามตฺตํว ขายติ

       ผู้ไม่มีกิเลสดุจเนิน มีปกติแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ บาปประมาณเท่าขนทรายจะปรากฏแก่เขาประดุจเท่ากลีบเมฆ”

       พระคาถาที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นถ้อยคำที่บ่งบอกว่า ในหัวใจของนักสร้างบารมีที่เกิดมาเพื่อสร้างบารมีนั้น ทุกลมหายใจย่อมมีแต่ความปรารถนาที่จะทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นแก่ตนเอง และจะไม่ยอมทำบาปอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย เพราะตระหนักดีว่า บาปแม้เพียงเล็กน้อยย่อมเป็นมลทินของใจ อันจะทำให้เห็นจำคิดรู้ไม่บริสุทธิ์ผ่องใส เมื่อมีสภาวะจิตใจที่แช่มชื่นเบิกบานเช่นนี้ บัณฑิตผู้มีปัญญาเห็นประจักษ์ จึงทำความดีได้ง่าย และทำความชั่วได้ยาก ในทางตรงกันข้าม คนชั่วผู้มีจิตใจฝักใฝ่แต่บาปอกุศล ย่อมจะทำความชั่วได้ง่าย ทำความดีได้ยาก

       การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องพบกับผู้คน อีกทั้งการดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยบัณฑิตไม่ต้องตำหนิติเตียนนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง แต่หากผู้ใดได้รับคำตำหนิจากบัณฑิต แล้วนำข้อคิดเหล่านั้นมาพินิจพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่

     * ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดพระเชตวัน มีพระสาวกรูปหนึ่ง หลังจากที่เรียนกัมมัฏฐานแล้ว ได้ปลีกตัวหลีกเร้นออกเดินทางหาที่สงบเพื่อบำเพ็ญเพียร แสวงหาความหลุดพ้น ตามโอวาทของพระบรมศาสดา

       พระภิกษุทั้งหลายในสมัยพุทธกาล หลังจากที่ศึกษาคันถธุระแล้ว โดยส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด จะพากันออกไปบำเพ็ญเพียรกันตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อทำวิปัสสนาธุระ พระศาสดาจะประทานโอวาทง่ายๆ ว่า “นั่นเรือนว่าง นั่นลอมฟาง นั่นโคนไม้ เธอจงยังความบริสุทธิ์บริบูรณ์ให้ถึงพร้อมเถิด”

       เมื่อได้รับโอวาทดังนี้แล้ว พระภิกษุรูปนั้นก็เช่นกัน ท่านได้ออกจากพระเชตวัน เดินทางไกลจนมาถึงป่าแห่งหนึ่งที่มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมบริบูรณ์ เหมาะสมที่จะเป็นสถานที่บำเพ็ญเพียร ป่านี้อยู่ในโกศลรัฐ ท่านจึงตัดสินใจอาศัยป่านั้นบำเพ็ญเพียรตลอดมา

       วันหนึ่ง ท่านเดินไปที่สระบัว เพื่อนำน้ำมาไว้ฉันไว้ใช้ตามปกติเช่นทุกวัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดอกบัวกำลังชูช่อบานสะพรั่งรายเรียงสวยงามเต็มสระ และตรงที่ท่านยืนอยู่ใต้ลมพอดี ท่านจึงยืนสูดกลิ่นดอกบัวนั้นอย่างเต็มที่ สถานที่นี้ยังมีเทวดาประจำป่า ได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติของท่านมานาน จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ครั้นเห็นกิริยาอาการเช่นนั้น ก็คิดว่า พระคุณเจ้าบำเพ็ญเพียรมานาน ตอนนี้กำลังปล่อยใจเคลิบเคลิ้มไปกับสิ่งไร้สาระ เราจะให้คติเตือนใจแก่พระคุณเจ้าให้ท่านได้คิด คิดดังนี้แล้ว จึงปรากฏกายให้ท่านเห็น และกล่าวขึ้นว่า “ที่ท่านยืนสูดดมกลิ่นเช่นนี้ ท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น เพราะท่านคิดว่ากลิ่นนี้ดีจริงหนอ ความคิดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความขโมย”

       พระภิกษุได้ฟังเพียงแค่นี้ รู้สึกสลดใจมาก จึงเดินทางกลับพระเชตวัน เข้าไปถวายบังคมพระศาสดา พระองค์ทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสถามว่า “ภิกษุ หลังจากที่เธอเรียนกัมมัฏฐานแล้ว เธอไปอยู่ที่ไหนมา” ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไปอยู่ป่าในโกศลรัฐ ถูกเทวดาตนหนึ่งที่ป่าทำให้ข้าพระองค์สลดใจ จึงเดินทางกลับมา พระเจ้าข้า” จากนั้นได้ทูลเล่าเรื่องราวทั้งหมด พระองค์สดับดังนั้นแล้ว ก็ตรัสว่า “ภิกษุ ไม่ใช่มีแต่เธอเท่านั้นที่ดมดอกไม้แล้ว ถูกเทวดาตัดพ้อให้สลดใจ แม้บัณฑิตในกาลก่อนก็เคยถูกเทวดาทำให้สลดใจมาแล้วเหมือนกัน” เมื่อภิกษุนั้นทูลอ้อนวอนให้ตรัสเล่า พระองค์จึงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

       ชาติหนึ่งที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์อาศัยอยู่ในแคว้นกาสี เมื่อเติบโตได้ศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองตักกสิลา ครั้นเรียนจบแล้วได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน ความคิดของผู้มีบุญนี้ เมื่อเห็นเหตุการณ์อะไรก็ตามที่คนอื่นไม่คิด แต่ท่านคิด คือ เมื่อท่านเห็นการอยู่ครองเรือนของฆราวาสก็คิดว่า ฆราวาสวิสัยนี้เป็นทางคับแคบ เป็นทางมาแห่งทุกข์ เห็นโทษภัยของการอยู่ครองเรือน จึงตัดสินใจสละความสุขสบายทางโลกออกบวชเป็นดาบส เข้าไปอยู่ในป่า ซึ่งใกล้ๆที่พักของท่านมีสระที่เต็มไปด้วยบัวกำลังบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมหวล

       วันหนึ่ง ท่านเดินลงไปใกล้ๆสระ ยืนอยู่ใต้ลมเพื่อสูดกลิ่นของดอกบัวเหล่านั้น ครั้งนั้นมีเทพธิดาซึ่งอาศัยอยู่บริเวณนั้น ปรารถนาจะให้ดาบสสลดใจ จึงปรากฏกายให้เห็น แล้วกล่าวกับดาบสพระโพธิสัตว์ว่า “ดูก่อนท่านผู้เช่นกับด้วยเรา การที่ท่านตั้งอกตั้งใจสูดดมดอกบัวที่เขาไม่ได้ให้แต่อย่างใด เท่ากับว่ากำลังทำองค์แห่งการขโมยให้เกิดขึ้น คือท่านเป็นผู้ขโมยกลิ่น”

       พระโพธิสัตว์ฟังคำกล่าวของเทพธิดา เกิดความประหลาดใจว่า เพียงแค่การที่เราดมกลิ่นเช่นนี้ จะเป็นการขโมยได้อย่างไร จึงเอ่ยถามว่า “ตัวเราเองไม่ได้ลักดอกบัว ไม่ได้เด็ดดอกบัวแม้แต่ดอกเดียว เพียงแค่เรายืนอยู่ที่ใกล้ๆ เพื่อสูดกลิ่นเท่านั้น เหตุไรจึงหาว่าเราเป็นผู้ขโมยเล่า” ขณะเดียวกันนั้นเอง มีชายคนหนึ่งมาที่สระบัว แล้วเดินลงไปขุดเหง้าบัว และเด็ดดอกบัวในสระนั้น พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า “ชายคนนี้ได้ขุดเหง้าบัว เด็ดดอกบัว ได้ทำลายความสวยงามของสระบัว ทำไมท่านไม่ต่อว่าเขาเล่า”

       เทพธิดาปรารถนาจะให้ข้อคิดแก่พระโพธิสัตว์ เพื่อให้พระดาบสผู้ทรงศีลได้สงวนเวลาไว้สำหรับการบำเพ็ญเพียร ไม่ต้องมาเสียเวลากับเรื่องนอกตัวเหล่านี้ จึงกล่าวเหตุที่ตนเองพูดเช่นนั้นกับพระโพธิสัตว์ว่า “ชายผู้นี้ทำกรรมหยาบช้า ชีวิตของเขาเปรอะเปื้อนด้วยบาป เต็มไปด้วยมลทินทุกวัน ข้าพเจ้าจึงไม่จำเป็นต้องพูดกับชายผู้นั้น แต่ตัวท่านนี้เป็นผู้ทรงศีล เป็นผู้แสวงหาความหลุดพ้น ทำตนให้หมดสิ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง ชีวิตของท่านเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ กรรมไม่ดีแม้เพียงเล็กน้อย ย่อมไม่ควรที่จะแปดเปื้อนท่าน บาปแม้เพียงเล็กน้อยเท่าขนทราย ย่อมปรากฏแก่ท่านเท่ากับกลีบเมฆก้อนใหญ่ทีเดียว”

       พระโพธิสัตว์ได้ฟังถ้อยคำนั้น แทนที่จะนึกตัดพ้อต่อว่าเทพธิดา กลับฉุกใจคิดว่า จริงอย่างที่นางกล่าวทีเดียว ชีวิตสมณะของเราไม่ควรที่จะมาเสียเวลากับสิ่งที่ไร้สาระเช่นนี้ กรรมแม้เพียงเล็กน้อยที่บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายติเตียน เราไม่ควรทำ แม้เราเองก็เป็นนักบวชที่ต้องการที่จะออกจากทุกข์ ฉะนั้นเราควรที่จะหลีกหนีกรรมนั้นเสียให้ห่างไกล

       เมื่อฉุกใจคิดได้ดังนี้ พระโพธิสัตว์ได้กล่าวขอบคุณเทพธิดาว่า “ข้าแต่ท่านผู้เป็นบัณฑิตผู้ควรบูชา คำพูดของท่านทำให้เราได้ข้อคิดมากมาย ตัวท่านนี้เป็นผู้ที่รู้จักเราอย่างแท้จริง และเป็นผู้ที่อนุเคราะห์เราโดยแท้ ข้าแต่ท่านผู้ควรบูชา ขอท่านจงชี้ข้อบกพร่องของเราอีกเถิด ถ้าเห็นว่ายังมีการกระทำอันใดที่ไม่เหมาะสม เราพร้อมที่จะปรับปรุงตนเอง”

       เทพธิดาได้ฟังคำของพระดาบสโพธิสัตว์แล้ว เกิดความชื่นชมยินดีว่า ดาบสผู้นี้เป็นบัณฑิตอย่างแท้จริง เมื่อได้รับคำเตือนก็ไม่โกรธ และตอบว่า “ท่านสมณะ ตัวท่านเองนั่นแหละที่รู้กรรมที่จะนำท่านไปสู่จุดหมาย อันเป็นเหตุไปสู่สุคติเข้าถึงพรหมโลก” ครั้นพระศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาจบ ภิกษุนั้นก็ได้บรรลุธรรมกายโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล ผู้ไม่แปดเปื้อนด้วยบาปอีกต่อไป

       จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ชีวิตของผู้ที่ตั้งใจสั่งสมความบริสุทธิ์ให้กับตนเองดังเช่นนักสร้างบารมีทั้งหลายในกาลก่อน บาปอกุศลหรือกรรมที่บัณฑิตติเตียนแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่สมควรที่จะกระทำอีก พวกเราก็เช่นเดียวกัน ชีวิตเราเป็นชีวิตของผู้รู้ผู้บริสุทธิ์ จิตใจของเราต้องมีแต่บุญกุศลเท่านั้น บาปอกุศลหรือสิ่งที่ไม่ดีไม่เหมาะสม เราอย่าไปทำ พยายามประคับประคองชีวิตของเราให้อยู่บนเส้นทางของความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เราจะได้มีแต่ความสุขกันทุกๆ คน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๑๘๐

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

ยอดผู้นำ และผู้บริหารนั้นสำคัญไฉน

     ทุกสรรพชีวิตล้วนมีพื้นฐานเหมือนกัน มีความทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ตั้งแต่วันแรกเกิดจนกระทั่งหลับตาลาโลก ชีวิตล้วนมีความทุกข์เป็นพื้นฐาน เช่นเดียวกับโลกนี้ที่มีความมืดเป็นพื้นฐาน และมีแสงสว่างเพราะมีแสงจันทร์ แสงอาทิตย์หรือแสงไฟ จึงทำให้โลกของเราสว่างไสวได้ 
     ในความเป็นจริงของชีวิต โลกภายในของเรามีแสงแห่งธรรมที่เป็นความสว่างไม่มีประมาณ สว่างกว่าพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน ความสว่างด้วยแสงแห่งธรรมนี้ จะทำให้ชีวิตของเราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้  ดังนั้น ขอให้พวกเราตระหนักถึงคุณค่าของการปฏิบัติธรรมให้ดีกันทุกคน

มีวาระแห่งภาษิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน กปิชาดก ความว่า

     “คนพาลสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต บริหารหมู่คณะ ลุอำนาจความคิดของตน คงนอนตายเหมือนกับกระบี่ตัวนี้ คนโง่แต่มีกำลัง บริหารหมู่คณะไม่ดี ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่หมู่ญาติ เหมือนนกต่อไม่เป็นประโยชน์แก่นกทั้งหลาย ส่วนคนฉลาด มีกำลังบริหารหมู่คณะดี เป็นประโยชน์แก่หมู่ญาติ เหมือนท้าววาสวะเป็นประโยชน์แก่ทวยเทพฉะนั้น”


     บุคคลใดก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้า หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าผู้บริหารนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ฉลาดรอบรู้ในทุกๆ เรื่อง และจะต้องเป็นผู้ที่สุขุมรอบคอบ จึงจะประคับประคองหมู่คณะให้รอดพ้นจากภัยทั้งปวงได้ หากหน่วยงานใดได้นักบริหารที่ไม่ใช่บัณฑิต ไม่รอบรู้ และประมาทเลินเล่อแล้ว นั่นคือสัญญาณอันตรายของหมู่คณะ เหมือนกริ่งเตือนภัยเริ่มดังขึ้นแล้ว ดังนั้น เราจะต้องระมัดระวัง และเลือกผู้นำให้ดี

     * ดังเรื่องที่พระภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันที่โรงธรรมสภา ถึงเรื่องของพระเทวทัตที่ถูกแผ่นดินสูบว่า พระเทวทัตนั้น นอกจากทำตนให้เสียหายแล้ว ยังทำให้หมู่คณะที่หลงเชื่อตน พลอยได้รับความเสื่อมเสียอีกด้วย ต่อมาพระบรมศาสดาได้เสด็จมา จึงตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอกำลังนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร” เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นกราบทูลเรื่องที่สนทนากัน พระพุทธองค์ทรงปรารถนาจะยกเรื่องนี้ให้เป็นอุทาหรณ์ จะได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อเป็นข้อคิด พระองค์จึงทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตพร้อมกับบริษัทของเธอไม่ใช่จะเสียหายในภพชาตินี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็พินาศมาแล้วเหมือนกัน” จากนั้นพระองค์ทรงนำอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า

     พระชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดของกระบี่มีบริวาร ๕๐๐ ตัวอาศัยอยู่ในพระราชอุทยานของพระเจ้าพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นพญากระบี่ที่ฉลาดมองการณ์ไกล และเป็นสัตว์ที่ไม่เคยมองข้ามภัยแม้เพียงเล็กน้อย บริวารทุกตัวของพระโพธิสัตว์ต่างเชื่อฟังคำพูดของพระโพธิสัตว์ ฝ่ายพระเทวทัตก็เกิดในกำเนิดของกระบี่ และมีบริวารถึง ๕๐๐ ตัวเช่นกัน อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงภายในอุทยานแห่งนั้น วันหนึ่ง กระบี่เกเรตัวนี้ ได้เดินนำหน้าฝูงไปนั่งเจ่าอยู่ที่ซุ้มยอดเสาตรงประตูอุทยาน ขณะนั้นปุโรหิตเดินผ่านมาพอดี ด้วยความคึกคะนอง กระบี่จอมเกเรนี้ได้ถ่ายรดศีรษะของปุโรหิตทันที



     ปุโรหิตสงสัยว่าอะไรตกใส่ศีรษะ จึงแหงนหน้าขึ้นไปมอง กระบี่เห็นปุโรหิตแหงนหน้ามองขึ้นมา ก็ยิ่งหมั่นไส้ จึงถ่ายรดลงอีก เมื่อโดนดีถึง ๒ ครั้งก็รู้ว่า เจ้ากระบี่นี้คิดกลั่นแกล้งเรา ด้วยความโกรธ จึงกล่าวคำอาฆาตกระบี่ทั้งหมดว่า “พวกเจ้าแกล้งเถิด แล้ววันหลังเราจะมาเอาคืนบ้าง” ในใจของปุโรหิตมีแต่ความอาฆาตตลอดเวลา ไม่เคยลืมสิ่งที่กระบี่ทำกับตนเลย ไม่ได้คิดแยกแยะ จะล้างแค้นกระบี่ทั้งหมด ทั้งๆ ที่กระบี่ที่ทำให้ตนเดือดร้อนมีอยู่ตัวเดียวเท่านั้น

     ส่วนพระโพธิสัตว์ผู้เป็นพญากระบี่ เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น ฉุกคิดขึ้นในทันทีว่า “ลางร้ายของหมู่กระบี่ทั้งปวงได้เริ่มขึ้นแล้ว เพราะการกระทำของกระบี่พาลตัวเดียวเท่านั้น การที่หมู่คณะเราทั้งหมดจะอาศัยอยู่ย่อมไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงบอกกระบี่ทั้งหนึ่งพันตัวว่า “ผองเพื่อนกระบี่ทั้งหลาย  วันนี้ พวกเราคงเห็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงแล้ว เหตุการณ์นี้นับเป็นลางร้ายของหมู่คณะอย่างยิ่ง การอาศัยอยู่ในถิ่นของผู้ที่อาฆาตมาดร้าย และจองเวรเช่นนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง พวกเราทั้งหมดพากันย้ายที่อยู่อาศัยไปที่อื่นเถิด”  เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวจบแล้ว กระบี่ที่หัวดื้อพากันถือมานะทิฐิไม่ยอมฟังคำแนะนำ แม้แต่หัวหน้าของเหล่ากระบี่นั้น ก็ไม่ได้มองเห็นภัยแต่อย่างใด ยังคงตอบด้วยกำลังแห่งมานะความถือตัวว่า “ท่านไม่ต้องเป็นห่วงเป็นใยหรอก พวกเราจะตัดสินใจกันเอง”

     พระโพธิสัตว์ฟังดังนั้น จึงพาบริวารที่เชื่อฟังผู้นำอย่างพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕๐๐ ย้ายที่อยู่ จากอุทยานเข้าไปอยู่ในป่าลึก ปุโรหิตครุ่นคิดหาแผนการที่จะทำลายหมู่กระบี่ทั้งหลายให้ได้ จนกระทั่งเวลาที่ปุโรหิตรอคอยก็มาถึง วันหนึ่ง แพะตัวหนึ่งกินข้าวเปลือกที่นางทาสีคนหนึ่งตากแดดไว้ ขณะเดียวกันนั้นนั่นเอง นางทาสีเหลือบไปเห็น จึงใช้ดุ้นฟืนที่มีไฟติดตีที่ตัวแพะ ทำให้ไฟไหม้แพะ มันจึงวิ่งไปหาที่ถูตัวเพื่อจะดับไฟ วิ่งไปถึงกระท่อมหญ้าหลังหนึ่ง มันรีบถูตัวกับกระท่อมเพื่อให้ไฟที่ไหม้ขนของมันดับ กระท่อมหญ้าเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี

     เมื่อแพะสีตัวกับกระท่อม ไฟก็ลุกไหม้กระท่อมหญ้าทันที เป็นเหตุบังเอิญอีกเช่นกันที่กระท่อมหญ้าหลังนั้นอยู่ติดกับโรงช้างของพระราชา  เมื่อไฟติดที่กระท่อมหญ้าแล้ว ได้ลุกลามไปยังโรงช้าง  ไฟได้ลุกไหม้เป็นทะเลเพลิง ในโรงช้างมีช้างอยู่หลายเชือก เมื่อไฟไหม้โรงช้างก็ลามไปไหม้บนหลังช้างอีก ทำให้ช้างได้รับบาดเจ็บ หมอหลวงจึงต้องรักษาพยาบาลช้าง ทำให้เกิดความโกลาหลเป็นการใหญ่

     ฝ่ายปุโรหิตคิดจะกำจัดกระบี่ทั้งหมดอยู่แล้ว เมื่อพระราชามีพระกระแสรับสั่งว่า “ท่านอาจารย์ วันนี้ช้างเราถูกไฟไหม้ไปหลายเชือก ท่านพอมียาดีที่จะรักษาให้หายเร็วๆ บ้างหรือไม่” ปุโรหิตฟังดังนั้น เกิดความคิดขึ้นมาทันทีว่า เราได้โอกาสแก้แค้นพวกกระบี่แล้ว จึงรีบทูลพระราชาทันทีว่า “ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์รู้จักยาที่จะรักษาบาดแผลของช้างให้หายเป็นปกติในเร็ววันนี้ได้ ซึ่งยานี้จะต้องใช้มันเหลวของกระบี่ทั้งหลายเป็นส่วนประกอบพระเจ้าข้า” พระราชาสดับดังนั้น จึงตรัสถามว่า “แล้วเราจะหากระบี่ได้ที่ไหนเล่า” ปุโรหิตทูลว่า “ในพระราชอุทยานของพระองค์มีอยู่มากมายพระเจ้าข้า” พระราชาจึงมีรับสั่งให้นายขมังธนูทั้งหลายไปจับกระบี่ทั้งหมด เพื่อนำมันเหลวของมันมาทำยารักษาแผลของช้าง

     นายขมังธนูพากันก็เดินทางไปที่พระราชอุทยาน แล้วยิงกระบี่ทั้ง ๕๐๐ ตัว ส่วนหัวหน้ากระบี่ที่หัวดื้อไม่เชื่อฟังพระโพธิสัตว์ ก็ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส ได้ประคับประคองตัวหลบหนีไปไม่ยอมล้มตายในที่นั้น กระเสือกกระสนจนกระทั่งถึงที่อยู่ของพระโพธิสัตว์ เมื่อไปถึงยังไม่ทันมีโอกาสพูด ก็ล้มลงขาดใจตายทันที บริวารของพระโพธิสัตว์เห็นเช่นนั้น จึงเล่าเรื่องราวให้พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ห้อมล้อมด้วยหมู่บริวารทั้งหลาย ได้กล่าวว่า “ธรรมดา พวกที่ไม่ยอมเชื่อโอวาทของบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมประสบกับความพินาศเช่นนี้”

     เมื่อจะถือโอกาสนี้ว่ากล่าวตักเตือนบริวารของตน พระโพธิสัตว์จึงกล่าวให้โอวาทด้วยความปรารถนาดีว่า “ผู้ที่จองเวรอยู่ในที่ใดก็ตาม เราไม่ควรอยู่ในที่นั้น จะอยู่เพียงคืนสองคืนก็เป็นทุกข์ คนที่เป็นหัวหน้ามีใจไม่หนักแน่น เบาใจคล้อยเชื่อง่าย สาเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านี้ ก็สามารถที่จะให้หมู่ญาติพินาศได้ เหมือนกระบี่ตัวนี้ทำให้บริวารทั้งหลายต้องเดือดร้อนตามไปด้วย


     คนพาลไม่มีปัญญา และไม่ยอมฟังความคิดเห็นของผู้อื่น บุคคลเช่นนี้จะเป็นผู้นำและผู้บริหารที่ดีไม่ได้ ส่วนผู้ใดก็ตาม มีศีล ปัญญา สุตะ จะเป็นยอดผู้นำและผู้บริหารที่ดี เพราะผู้นั้นจะประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เพราะฉะนั้น บัณฑิตนักปราชญ์ควรจะชั่งใจตรวจตราดูศีล ปัญญา สุตะ จึงบริหารหมู่คณะและนำพาให้หมู่คณะเจริญรุ่งเรืองได้” ตั้งแต่บัดนั้น วานรทุกตัวต่างอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทำให้หมู่คณะอยู่อย่างมีความสงบสุขตลอดมา

     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่ายอดผู้นำและนักบริหารที่ดีนั้น จะต้องเป็นอย่างที่พระโพธิสัตว์กล่าวถึง คือ มีทั้งศีล ปัญญา และสุตะ คือการฟัง รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นเบื้องต้น และเป็นผู้ที่รอบรู้ในทุกๆ เรื่อง ไม่มองข้ามภัยแม้เล็กน้อย จึงจะสามารถประคับประคองหมู่คณะให้รอดพ้นภัยทั้งหลายได้  เราต้องหมั่นสำรวจตัวของเราให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์พร้อมเสมอ และหมั่นฝึกฝนอบรมตนเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปตามแบบอย่างพระโพธิสัตว์กันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหา มุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๒๙๘

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

สุมนสามเณร อรหันต์ผู้ปราบพญานาค


ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของเรา เพราะจะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัจธรรมนำพาชีวิตให้เข้าถึงความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล ปัจจุบันมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต เมื่อไม่ได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ ชีวิตจึงต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ เหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องร้อยรัดพันธนาการ แต่เมื่อได้ฟังพระสัทธรรม จะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต แล้วมุ่งแสวงหาสาระอันแท้จริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

“ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ    อหึสา สญฺญโม ทโม

ส เว วนฺตมโล ธีโร        โส เถโรติ ปวุจฺจติ 

     บุคคลใดมีสัจจะ มีธรรมะ มีความไม่เบียดเบียน มีความสำรวม มีความข่มใจ บุคคลนั้นชื่อว่า เป็นนักปราชญ์ผู้บริสุทธิ์ ชื่อว่าเป็นเถระ ผู้มั่นคงในธรรม”

     ผู้ที่จะสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเหล่านี้ มิได้จำกัดอยู่ที่อายุ เพศภาวะ หรือฐานะความเป็นอยู่ หากอยู่ที่การฝึกฝนอบรมตนเอง และมีมโนปณิธานอันสูงส่งที่จะทำให้ถึงที่สุดแห่งการพ้นทุกข์ ด้วยการหมั่นชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ หากสามารถนำใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้ ใจจะมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานอย่างเดียว ทำให้เป็นผู้สำรวมระวัง สงบระงับ มีความอดทนต่อกิเลสเครื่องล่อใจต่างๆ แล้วตั้งใจประกอบคุณงามความดีโดยไม่หวั่นไหว มีใจมั่นคงประดุจขุนเขาที่ไม่หวั่นไหวต่อแรงลมที่พัดมาจากทั่วสารทิศ

     บุคคลเช่นนี้ เป็นผู้ที่หาได้ยากในโลก จึงไม่ควรล่วงเกินหมิ่นประมาท ไม่ว่าท่านจะอายุมากหรือน้อย เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ก็ควรแก่การเคารพนับถือ แม้จะเกิดในครอบครัวที่ต่ำต้อย แต่จิตใจนั้นสูงส่ง ถึงมีผิวพรรณหยาบกร้านไม่น่าดู แต่มีใจใสสะอาดบริสุทธิ์ หรือแม้ว่ายังเป็นเด็กเล็กอายุไม่กี่ขวบ แต่ใจนั้นยิ่งใหญ่ ยิ่งเป็นผู้ที่บรรลุคุณวิเศษต้องระวัง อย่าไปพลั้งพลาดประพฤติผิดต่อท่าน เพราะจะเกิดโทษมหันต์

     ผู้รู้ถึงได้แนะนำไว้ว่า สิ่งที่เราไม่ควรดูหมิ่นมี ๔ อย่าง คือ อย่าดูหมิ่นไฟว่ามีเพียงน้อยนิด อย่าดูหมิ่นอสรพิษว่าตัวน้อย อย่าดูหมิ่นกษัตริย์ว่ายังหนุ่ม และอย่าดูหมิ่นสมณะว่ายังเยาว์ เพราะไฟแม้จะมีประกายเพียงนิดเดียว ถ้าลุกลามก็สามารถทำลายสิ่งต่างๆ ให้มอดไหม้ อสรพิษแม้จะตัวเล็กแต่พิษของมันก็สามารถทำให้เราถึงตาย กษัตริย์แม้ยังหนุ่มแต่ก็สามารถสั่งตัดสินประหารชีวิตคน หรือถ้าปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์โดยธรรม จะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข และสมณะแม้ว่าจะเป็นเพียงสามเณรน้อย แต่ถ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นผู้มีอานุภาพมาก

     * เหมือนดังเรื่องของสุมนสามเณร แม้อายุยังน้อยแต่สามารถปราบพญานาค ที่มีฤทธานุภาพมากให้สิ้นฤทธิ์ เรื่องมีอยู่ว่า มีอุบาสกท่านหนึ่งเป็นผู้มีความศรัทธามาก ได้ให้ลูกชายชื่อ สุมนะ บวชเป็นสามเณรเพื่อคอยอุปัฏฐากพระอนุรุทธเถระ สุมนะเป็นเด็กที่มีบุญได้สั่งสมบุญเก่ามาดีข้ามภพข้ามชาติ เพราะฉะนั้น เวลาบวช เพียงใบมีดโกนจรดปลายเส้นผม สามารถพิจารณาเห็นแจ้งถึงความไม่เที่ยงของสังขาร แล้วบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พอโกนผมเสร็จทั้งศีรษะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทันที

     วันหนึ่ง ขณะที่พระอนุรุทธะกำลังเดินจงกรม โรคลมเสียดท้องก็เกิดขึ้นกับท่าน สามเณรจึงเรียนถามพระอาจารย์ว่า “จะให้ช่วยรักษาอย่างไรบ้าง” พระเถระบอกว่า “ถ้าหากได้ดื่มน้ำจากสระอโนดาต ก็จะหายเป็นปกติ” สามเณรจึงอาสาจะไปเอาน้ำจากสระอโนดาตมาถวาย และรีบเหาะไปที่สระอโนดาตทันที

     วันนั้น พญานาคราชกำลังเล่นน้ำกับนาคบริวารอยู่ พอได้เห็นสามเณรยืนอยู่ในอากาศเหนือศีรษะของตนก็โกรธมาก แล้วคิดว่า “สมณะนี้เหาะมาทางอากาศ ทำให้ฝุ่นที่เท้าตกลงมาบนศีรษะของเรา ท่านคงจะมาที่นี่ เพราะต้องการน้ำในสระอโนดาตนี้แน่ แต่เรา จะไม่ยอมให้น้ำอย่างเด็ดขาด" แล้วพญานาคก็ขยายตัวแผ่พังพานปิดสระอโนดาตไว้

     สามเณรเห็นอาการของนาคราช ก็ทราบว่านาคราชกำลังโกรธ จึงกล่าวว่า “พญานาคราชผู้มีเดชกล้า มีกำลังมาก เรามาเพื่อจะขอน้ำไปรักษาพระอาจารย์ ซึ่งกำลังอาพาธอยู่ ขอให้ท่านได้ให้น้ำแก่เราด้วยเถิด” นาคราชบอกว่า “แม่น้ำใหญ่ๆ ไหลไปสู่มหาสมุทรมีตั้งหลายสาย ทำไมถึงไม่ไปเอา จะมาเอาจากที่นี่ทำไม”

     สามเณรรู้ว่า พญานาคคงจะไม่ให้น้ำง่ายๆ จึงคิดจะทรมานพญานาคให้คลายทิฐิมานะ จึงบอกว่า “ท่านนาคราช พระอุปัชฌาย์ให้เรานำน้ำจากสระอโนดาตนี้เท่านั้น ขอท่านอย่าห้ามเราเลย” พญานาคฟังแล้วยิ่งโกรธหนักขึ้น จึงท้าสามเณรประลองฤทธิ์

     สุมนสามเณรปรารถนาจะยอยกพระพุทธศาสนาให้สูงเด่น ให้เหล่าเทวดา พรหม อรูปพรหม ได้เห็นอานุภาพของพระรัตนตรัย จึงใช้ฤทธานุภาพเหาะไปหาเทวดาทุกชั้นฟ้า เพียงแค่เวลาชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ไปถึงพรหมโลก ประกาศให้เทวดา และพรหมได้มาเป็นสักขีพยานว่า “เราเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต่อสู้กับปันนกนาคราชที่สระอโนดาต ขอท่านทั้งหลายจงไปดูความพ่ายแพ้หรือชัยชนะที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นพยานให้กับเราด้วย”

     เหล่าเทวดาทั้งหมดฟังคำของสามเณรแล้ว ก็มาประชุมกันเนืองแน่นเต็มบริเวณ ซ้อนกันอยู่รายรอบสระอโนดาต ขณะนั้นพญานาคได้แปลงร่างขนาดใหญ่ แผ่พังพานไม่ให้สามเณรนำน้ำไปได้ สามเณรเริ่มประลองฤทธิ์กับพญานาคราช โดยเหาะขึ้นไปกลางอากาศแล้วเนรมิตกายสูงถึง ๑๒ โยชน์ เหยียบพังพานของพญานาค แล้วกดหน้าให้ควํ่าลง

     ทันทีที่เหยียบลงไปบนพังพานของพญานาคเท่านั้น แผ่นพังพานก็ได้หดเข้าเหลือเล็กเท่าทัพพี น้ำในสระอโนดาตพุ่งขึ้นมาให้สามเณรรองใส่ภาชนะที่นำมาจนเต็ม หมู่ทวยเทพต่างแซ่ซ้องสาธุการกันไปทั่วบริเวณ ในที่สุดสามเณรก็สามารถนำน้ำไปถวายพระเถระได้สำเร็จ เมื่อท่านฉันน้ำนั้นแล้ว จึงหายจากอาการปวดท้องทันที

     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าสามเณรแม้อายุยังน้อย แต่อานุภาพไม่ธรรมดา ฉะนั้น จะไปดูหมิ่นสมณะว่ายังเยาว์ ว่าเป็นสามเณรน้อยๆ คงไม่มีความสามารถอะไร สามเณรนี่แหละเป็นเหล่ากอของสมณะ ที่จะเป็นอายุของพระศาสนา เป็นผู้สืบทอดพระสัทธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาให้ดำรงคงอยู่คู่โลกต่อไป

     ดังนั้น แม้จะอยู่ในวัยเด็กหรือผู้ใหญ่ จะร่ำรวยหรือยากจน จะดำรงอยู่ในสถานะหรืออาชีพใดก็ตาม  หากภายในจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ปรารถนาจะทำให้สันติสุขบังเกิดขึ้นแก่โลก นับได้ว่าเป็นผู้ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง พวกเราก็เป็นคนหนึ่งที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ เริ่มต้นด้วยการให้สิ่งที่ดีงามบังเกิดขึ้นในจิตใจของเราก่อน นึกถึงบุญกุศลที่เราได้ทำมา นึกถึงองค์พระหรือดวงธรรมใสๆ ที่อยู่ในตัวของเรา และหยิบยื่นสิ่งที่ดีงามนี้ให้แก่คนรอบข้าง ตลอดจนถึงคนทั้งโลก เหมือนกับต้นน้ำที่เผื่อแผ่ธารน้ำอันชุ่มฉํ่าให้แก่สรรพสัตว์และต้นไม้ใบหญ้าให้ได้รับความชุ่มชื่นโดยทั่วกัน

     สันติภาพของโลกจะบังเกิดขึ้น ต้องเริ่มจากสันติสุขภายใน คือ เริ่มที่ใจของเราก่อน ดังนั้นให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่า เราสามารถทำให้โลกเกิดสันติสุขได้ และเราจะช่วยกันทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยที่เราเข้าถึง เราจะเปลี่ยนแปลงโลกที่รุ่มร้อนให้เป็นโลกที่ร่มเย็น เปลี่ยนโลกที่เห็นแก่ตัวให้เป็นโลกที่รู้จักการแบ่งปัน ฉะนั้นให้เริ่มต้นด้วยการหมั่นเอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายให้ได้ตลอดเวลา ให้เข้าถึงความสุข แล้วแผ่ขยายความสุขไปให้แก่มวลมนุษยชาติ แล้วเราจะมีความสุขในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรกันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  

* มก. เล่ม ๔๓ หน้า ๔๐๖

ขอขอบคุณข้อมูล www.dmc.tv

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทำความดีต้องมีกุศโลบาย

      คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประดุจถ้อยคำเพชรพลอย ที่กลั่นออกมาจากใจที่ใสบริสุทธิ์ สามารถยังใจของผู้ฟังให้บริสุทธิ์ผ่องใส การที่เราได้ดำรงตนอยู่ในคำสอนของพระพุทธองค์ จึงเป็นบุญลาภอันประเสริฐยิ่ง การทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสนั้น เป็นพระพุทโธวาทหลักของพระองค์ที่ตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ คือการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ซึ่งการที่เราจะทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ ต้องนำใจกลับมาไว้ ณ ฐานที่ตั้งดั้งเดิมของใจ คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้ตลอดเวลา และต้องหมั่นประกอบความเพียรในทุกอิริยาบถด้วย

มีอุทานคาถาที่ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสไว้ด้วยความปีติว่า

“อโห ทานํ ปรมทานํ กสฺสเป สุปติฏฺฐิตํ
โอหนอ ทานนี้เป็นทานอันเลิศ เราได้ถวายไว้ดีแล้วในพระกัสสปเถรเจ้า”

      คาถานี้เป็นเทวอุทานที่พระอินทร์ได้เปล่งออกมาจากใจหลังจากที่ได้ทำบุญใหญ่ คือได้ถวายทานกับพระอรหันต์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ อันเป็นเหตุให้พระองค์ได้ความเป็นจอมเทพ ที่ไม่มีเทพองค์ใดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีอานุภาพเสมอเหมือน การทำบุญถูกเนื้อนาบุญนี้ ถือเป็นหลักสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เพราะการให้ทาน นอกจากจะให้ด้วยจิตเลื่อมใสแล้ว คือผู้ให้บริสุทธิ์ วัตถุทานบริสุทธิ์ และผู้รับต้องบริสุทธิ์ด้วย เปรียบเหมือนเรามีความตั้งใจจะหว่านเมล็ดพืชพันธุ์ดีลงในผืนนา ถ้านาอุดมสมบูรณ์ ปราศจากวัชพืช ผลผลิตที่เกิดขึ้น ย่อมได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยฉันใด ผลที่เกิดจากการทำถูกทักขิไณยบุคคลก็เช่นกันฉันนั้น แม้ทำน้อยก็ได้ผลมาก ถ้าทำมากก็ได้ผลมากยิ่งๆ ขึ้นไป

     * ดังเรื่องของท้าวสักกะจอมเทพ ภพชาติในอดีตครั้งที่ยังเป็นมฆมาณพนั้น ท่านได้ฝึกตนเองอย่างเต็มที่ ทั้งการบริจาคทาน ก็ได้ชื่อว่าเป็นยอดนักเสียสละ การบำเพ็ญวัตตบท ๗ ตลอดชีวิต ไม่มีใครทำได้อย่างท่าน เป็นนักรณรงค์เพื่อให้มนุษย์รักในการทำความดี เมื่อละโลกไปแล้ว บุญส่งผลให้ท่านได้เป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปกครองชาวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาตลอด

     เนื่องจากพระอินทร์ไม่ได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ แม้จะได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำของชาวสวรรค์ แต่รัศมีกายของพระองค์ก็ยังด้อยกว่าเทพเหล่าอื่นๆ จึงดำริที่จะหาโอกาสลงไปยังโลกมนุษย์ เพื่อเสริมบุญบารมีให้เพิ่มขึ้น จวบจนมาถึงสมัยพุทธกาลนี้

     วันหนึ่ง เหล่าเทพอัปสร ๕๐๐ นางซึ่งเป็นบริจาริกาของพระองค์อยากได้บุญใหญ่ จึงชวนกันถืออาหารหวานคาว มายืนดักรอตักบาตรพระกัสสปเถระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ พวกเธอกล่าวเชื้อเชิญพระเถระให้รับบาตร แต่ได้รับการปฏิเสธจากพระเถระ

     นางอัปสรได้อ้อนวอนพระเถระว่า ขอท่านได้โปรดสงเคราะห์พวกดิฉันด้วยเถิด แต่เมื่อได้รับการปฏิเสธถึง ๓ ครั้ง จึงกลับไปยังเทวโลกด้วยความผิดหวัง พวกนางได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท้าวสักกะฟัง ทำให้พระองค์ทรงอยากได้บุญกับพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ จึงหากุศโลบายที่จะทำบุญกับพระเถระ

     เช้าวันนั้น พระอินทร์พร้อมด้วยสุชาดาเทพกัญญา ได้เหาะลงจากเทวโลก แปลงเป็นช่างหูกชรายากจนเข็ญใจ มีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง  ส่วนสุชาดาก็เนรมิตกายเป็นหญิงชรา เดินงกๆ เงิ่นๆ และยังทรงเนรมิตถนนช่างหูกขึ้นสายหนึ่ง ประทับขึงหูกอยู่ตามลำพัง ฝ่ายพระเถระเดินบ่ายหน้าเข้าเมืองด้วยหวังว่า “จักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจ” ได้มองเห็นถนนสายนั้นอยู่นอกเมือง และมองเห็นผู้เฒ่าทั้งสองกำลังขึงหูกกรอด้ายกันอยู่

     พระเถระมีจิตเมตตาว่า “สองตายายนี้ แม้แก่เฒ่าก็ยังทำงาน ในเมืองนี้ผู้ที่จะเข็ญใจกว่าสองคนนี้เห็นจะไม่มี เราควรที่จะอนุเคราะห์สองตายายให้มีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป จากนั้นได้บ่ายหน้าตรงไปที่บ้านของคนทั้งสอง ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระเถระกำลังมา จึงตรัสบอกสุชาดาว่า “พระคุณเจ้าของเรากำลังเดินมาทางนี้แล้ว เธอจงนั่งทำเป็นเหมือนไม่เห็นท่าน ฉันจะลวงท่านสักครู่หนึ่ง แล้วจึงจะถวายบิณฑบาต” เมื่อพระเถระมายืนอยู่หน้าประตูบ้าน สองตายายก็ทำเป็นมองไม่เห็น ยังคงก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ ท้าวสักกะทำเป็นเอ่ยขึ้นว่า “ที่ประตูบ้านดูเหมือนมีพระเถระยืนอยู่รูปหนึ่ง เธอจงไปตรวจดูซิ ว่าใครมา”

      สุชาดาแกล้งทำเป็นลุกไม่ค่อยไหว และพูดเกี่ยงให้ท้าวสักกะออกไปต้อนรับแทน ท้าวเธอจึงเสด็จออกจากเรือน ทรงก้มลงกราบพระเถระ จากนั้นทรงเอาพระหัตถ์ทั้งสองลูบเท้าพระเถระ ถอนใจแล้วเสด็จลุกขึ้น ย่อพระองค์ลงเล็กน้อยตรัสถามว่า “ตาของข้าพเจ้าฝ้าฟาง มองไม่ค่อยเห็นพระคุณเจ้า ท่านเป็นพระเถระรูปไหนหนอ” พระอินทร์แกล้งทำเป็นวางพระหัตถ์ไว้เหนือหน้าผาก ป้องหน้าแหงนดู ตรัสว่า “โอ ตายจริง นี่ คือ พระมหากัสสปเถระของเรา นานหนอจะได้เห็นพระมาเยี่ยมถึงกระท่อมน้อยของเรา ยายแก่เอ้ย มีอาหารอะไรที่พอจะทำบุญให้ทานบ้างไหม”

      สุชาดาทำเป็นกุลีกุจอรีบไปดูอาหารในครัว ร้องบอกให้พระเถระโปรดหยุดรอสักครู่ แล้วเดินงกๆ เงิ่นๆ ถืออาหารมาถวายพระเถระ พระเถระได้ส่งบาตรให้ไปด้วยความเอ็นดู ท้าวสักกะทรงคดข้าวสุกออกจากหม้อใส่จนเต็มบาตร แล้วมอบถวายในมือพระเถระ บิณฑบาตนั้นมีแกงและกับมากมาย กลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วกรุงราชคฤห์

     พระเถระคิดว่า ชายแก่นี้เป็นคนยากเข็ญ แต่อาหารนั้นประณีตเหมือนสุธาโภชน์ของท้าวสักกะ” ครั้นพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง ก็รู้ว่าเป็นท้าวสักกะ จึงตำหนิว่า “พระองค์ทรงแย่งสมบัติของคนเข็ญใจ เป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะผู้ใดก็ตามที่ถวายทานแก่อาตมภาพในวันนี้ จะได้ตำแหน่งเสนาบดีหรือตำแหน่งมหาเศรษฐีประจำเมืองทีเดียว”

      ท้าวสักกะกราบเรียนว่า “แม้ข้าพเจ้าจะได้เสวยสิริราชสมบัติในเทวโลก แต่ก็จัดว่าเป็นคนเข็ญใจในเทวโลก เพราะในปัจจุบัน เทพบุตรผู้มีศักดิ์เสมอกัน ๓ องค์ คือจูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร และอเนกวัณณเทพบุตรได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ ได้ไปบังเกิดใกล้กับปราสาทของข้าพเจ้า เป็นผู้มีฤทธิ์มีเดชมากกว่าข้าพเจ้า เมื่อเทพบุตรทั้งสามพาเทพนารีบริวารไปชมทิพยอุทยานผ่านมาทางวิมานของข้าพเจ้า เดชจากสรีระของเทพบุตรทั้งสามนั้นท่วมทับสรีระของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าต้องหลบเข้าไปอยู่ในวิมาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะเข็ญใจกว่าข้าพเจ้าเป็นไม่มี”

     พระเถระได้ฟังความทุกข์ของพระอินทร์แล้ว บังเกิดจิตเมตตาสงสาร จึงอนุโมทนาในกุศลเจตนาของพระองค์ ท้าวสักกะถามว่า “เมื่อกระผมลวงถวายทาน กุศลจะเกิดขึ้นหรือไม่” ครั้นได้รับคำยืนยันว่าได้บุญเหมือนกัน พระอินทร์รู้สึกปีติใจมาก ทรงไหว้พระเถระ พาสุชาดาทำประทักษิณรอบพระเถระ แล้วเหาะขึ้นสู่เวหา พระองค์เกิดปีติโสมนัสที่ได้ถวายทานด้วยโภชนะที่เป็นทิพย์เช่นนี้ จึงเปล่งอุทานขึ้น ๓ ครั้ง ว่า “โอหนอ ทานนี้เป็นทานอันเลิศ เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสปเถระ”

     ด้วยอานิสงส์ที่ท้าวสักกะได้ทำบุญใหญ่ โดยเป็นผู้ทำบุญที่ประกอบด้วยสมบัติ ๓ ประการ คือ เขตสมบัติ ให้ทานที่ถึงพร้อมด้วยบุญเขตอันยอดเยี่ยม วัตถุสมบัติ ถึงพร้อมด้วยไทยธรรมอันเลิศ และจิตสมบัติ ถึงพร้อมด้วยจิตที่เลื่อมใสอันไม่มีประมาณ นับว่าเป็นการบำเพ็ญทานที่สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบที่จะเป็นเหตุให้ได้มหาสมบัติใหญ่ บุญนั้นจึงส่งผลให้พระองค์ได้เป็นจอมเทพมีรัศมีกายที่สว่างไสว ได้ความเป็นเลิศทั้งรูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยความเป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

     จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า การถวายทานถูกทักขิไณยบุคคลนั้น ไม่ใช่ของง่าย แม้แต่พระอินทร์ยังต้องอาศัยกุศโลบายจึงจะถวายทานได้สำเร็จ จะทำบุญต้องอาศัยดวงปัญญา และต้องทำให้ถูกเนื้อนาบุญ จึงจะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมบัติทั้ง ๓ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ  ดังนั้นนักสร้างบารมีต้องฉลาดในการสร้างบารมี ให้พวกเราทุกคนได้ตระหนักในเรื่องการทำบุญที่ถูกหลักวิชากันให้ดี และหมั่นสั่งสมบุญให้เต็มที่ เต็มกำลัง ทั้งทาน ศีล ภาวนา ที่สำคัญคือต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยให้ได้กันทุกๆ คน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๑๒๑

ดำรงตนบนหนทางสู่สวรรค์

      เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง เพื่อแสวงหาพระรัตนตรัยหรือต้องการเข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่คงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุข ที่เป็นสุขล้วนๆ และเป็นตัวตนที่แท้จริง ธรรมกายนี้เป็นธรรมขันธ์ มีความสะอาดบริสุทธิ์ล้วนๆ ส่วนขันธ์ ๕ หรือร่างกายของเรา เป็นสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นทุกข์ ไม่อาจจะทนอยู่ในสภาพเดิมได้ เพราะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ต้องคอยดูแลเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา  ดังนั้น การแสวงหาพระธรรมกายจึงเป็นการแสวงหาของจริง ซึ่งเป็นเป้าหมายอันสูงสุดของมวลมนุษยชาติ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

“น ตํ มาตา ปิตา กยิรา  อญฺเญ วาปิ จ ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ     เสยฺยโส นํ ตโต กเร

      มารดาบิดา หรือว่าญาติเหล่าอื่น ไม่พึงทำเหตุนั้นให้ได้ แต่จิตอันตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น”

      การสั่งสมบุญเป็นเหตุนำสุขมาให้ เป็นเรื่องเฉพาะตน ใครทำคนนั้นก็ได้ จะทำแทนกันไม่ได้ เหมือนกินข้าว ใครกินคนนั้นก็อิ่ม พ่อแม่หรือหมู่ญาติพี่น้อง ก็ช่วยเหลือได้เพียงให้คำแนะนำที่ดีๆ หากเราปรารถนาความสุขและความสำเร็จ ก็ต้องขยันหมั่นเพียรทุ่มเทแรงกายแรงใจให้เต็มที่ ไม่เกียจคร้าน ไม่มีข้อแม้ข้ออ้างที่ทำให้เราประมาท ถ้าอยากมีความสุขบนสวรรค์ก็ต้องประกอบเหตุในเมืองมนุษย์ หมู่ญาติเพื่อนพ้องทำแทนให้ไม่ได้ มีเพียงจิตที่ตั้งไว้ดีแล้วบนเส้นทางบุญกุศลเท่านั้นที่ช่วยเราได้ แล้วมุ่งมั่นสั่งสมบุญอยู่เป็นนิตย์ บุญนั้นย่อมส่งผลให้เราสมปรารถนาในทุกสิ่ง

     * ในยุคที่พระพุทธศาสนายังไม่บังเกิดขึ้น มีมาณพหนุ่มชื่อมฆมาณพ ท่านมีอัธยาศัยที่งดงาม ชอบสร้างรมณียสถานให้กับคนทั้งหลาย เพราะเป็นสถานที่เป็นที่รักที่ชอบใจของทุกคน เพราะฉะนั้น เวลาไปไหน ท่านจะถือจอบเสียมไปด้วย แล้วทำพื้นที่บริเวณต่างๆ ให้ราบเรียบ

     ต่อมาเพื่อนอีก ๓๒ คน เห็นมฆมาณพตั้งใจทำสิ่งที่ดี เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม จึงมาร่วมอุดมการณ์ ช่วยกันสร้างหนทางไปสู่สวรรค์ บางครั้งฝ่ายบ้านเมืองมองไม่เห็นความดี ถูกกลั่นแกล้งถึงขนาดเอาชีวิตเลยทีเดียว แต่ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความดี จึงทำให้สามารถรอดพ้นจากภยันตรายมาได้ แล้วยังได้รับการสนับสนุนจากพระราชา ให้ทำสิ่งที่ดีนี้ต่อไป สหายทั้ง ๓๓ คนได้ปรึกษากันว่า จะสร้างศาลาเป็นที่พักถาวรสำหรับมหาชนตรงทางสี่แยก จึงสั่งให้หาช่างมา แล้วเริ่มสร้างศาลาหลังใหญ่

     มฆมาณพมีภรรยา ๔ คน คือ นางสุชาดา นางสุธรรมา นางสุจิตราและนางสุนันทา นางสุธรรมาอยากมีส่วนบุญในการสร้างศาลาหลังใหญ่นั้น จึงจ้างช่างไม้ให้ทำช่อฟ้าอย่างดี ให้นำไปติดตั้งไว้บนศาลา พร้อมกับให้เขียนป้ายว่า ศาลาสุธรรมา ศาลาหลังนี้มี ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งทำเป็นที่พักของผู้หลักผู้ใหญ่ ส่วนหนึ่งสำหรับพวกคนยากคนจน อีกส่วนหนึ่งสำหรับคนเจ็บป่วย

     นางสุนันทาอยากได้บุญบ้าง จึงให้ขุดสระบัวไว้ใกล้ๆ ใครมาเยือนศาลาหลังนี้ก็สามารถลงไปอาบได้ตามชอบใจ นางสุจิตราให้ปลูกพุ่มไม้ดอกไม้ประดับ และไม้หอมนานาพันธุ์ ทุกคนที่มาพักศาลาแห่งนี้ต่างอดไม่ได้ที่จะต้องไปเดินเที่ยวในสวนนี้ ส่วนนางสุชาดากลับคิดว่า บุญใดที่สามีของเราได้ทำไว้ ก็เหมือนนางเป็นคนสร้างด้วย จึงเอาแต่เที่ยวส่องกระจกตกแต่งประดับประดาร่างกายเท่านั้น

     เมื่อมฆมาณพละจากมนุษยโลก ได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกะบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อนบ้านทั้ง ๓๒ คน เป็นเทพบุตร เกิดในสำนักของท้าวสักกะ ปราสาทชื่อไพชยนต์ของท้าวสักกะผุดขึ้นสูงตั้งเจ็ดร้อยโยชน์ ด้วยผลแห่งไม้ช่อฟ้าของนางสุธรรมา จึงบังเกิดเทวสภา ชื่อสุธรรมา กว้างสามร้อยโยชน์ ด้วยผลแห่งสระบัวของนางสุนันทา เกิดสระบัวชื่อนันทากว้างห้าสิบโยชน์ และด้วยผลแห่งสวนพุ่มไม้ดอกไม้ประดับของนางสุจิตราเกิดอุทยานชื่อจิตรลดาวันกว้างหกสิบโยชน์

     ท้าวสักกะทรงตรวจดูมหาสมบัติ ทรงเห็นเทพธิดาทั้ง ๓ เท่านั้น แต่ไม่เห็นนางสุชาดา จึงตรวจดูด้วยทิพยจักษุ ทรงรู้ว่านางไปเกิดเป็นนางนกกระยาง เพราะไม่ยอมทำบุญกุศลใดๆ ไว้ พระอินทร์จึงเสด็จลงจากเทวโลกไปหานางนกกระยาง พร้อมกับตรัสบอกว่า “สุชาดาเอ๋ย เพราะเจ้าไม่ทำตามคำของเรา ที่ชักชวนให้สั่งสมบุญกุศลไว้ มัวแต่แต่งเนื้อแต่งตัว จงมาดูสมบัติของพวกเราบนสวรรค์เถิด” จากนั้นได้พานางไปเทวโลกด้วยฤทธานุภาพ ทรงปล่อยนางนกกระยางที่สระบัวชื่อนันทา ให้นกกระยางดูสมบัติอันเป็นทิพย์ ซึ่งบังเกิดขึ้นด้วยบุญญานุภาพ ที่ทำไว้ครั้งเมื่อยังเป็นมนุษย์นั่นเอง

     จากนั้นพระองค์ทรงนำนางไปปล่อยในหนองน้ำตามเดิม พลางตรัสว่า “ขอให้เธอรักษาศีลยิ่งชีวิต ถ้าทำได้ เธอจะได้เป็นใหญ่กว่าเหล่าเทพนารีทั้งหมดในดาวดึงส์” นางรับปากว่าจะรักษาศีล ๕ ให้ได้  ครั้นล่วงไปได้สองสามวัน ท้าวสักกะทรงคิดว่า นางรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้หรือไม่ จึงแปลงเป็นปลาใกล้ตาย นอนหงายท้องลอยน้ำมาตรงหน้านาง นางคิดว่า คงเป็นปลาตาย จึงคาบเอาที่หัว เมื่อเห็นปลากระดิกหาง ก็รู้ว่ายังไม่ตาย จึงปล่อยลงน้ำไป ท้าวสักกะทรงทดลองอยู่หลายครั้ง จนมั่นใจว่า นางตั้งใจรักษาศีลตามที่ทรงแนะนำ จึงประทับยืนในอากาศอนุโมทนากับนาง แล้วอันตรธานหายไป

     เนื่องจากเป็นสัตว์เดียรัจฉาน กว่าจะหาปลาตายสักตัวได้นั้น สุดแสนจะยากลำบากสำหรับนาง แต่อาศัยกำลังใจที่สูงส่ง นางจึงไม่ยอมละเมิดศีล เมื่อละจากอัตภาพนั้น บุญที่เกิดจากการรักษาศีล ส่งผลให้นางไปบังเกิดเป็นลูกสาวช่างหม้อ เมื่อท้าวสักกะรู้ว่านางได้เป็นมนุษย์แล้ว จึงแปลงเป็นชายแก่เอาฟักทองคำบรรทุกใส่ยานพาหนะไปจนเต็ม พลางป่าวประกาศว่า “พวกท่านทั้งหลายจงมารับเอาฟักทองคำนี้เถิด แต่เราจะให้เฉพาะผู้รักษาศีลเท่านั้น”

     ไม่มีชาวบ้านคนใดรักษาศีล ๕ ได้บริบูรณ์ จึงไม่มีผู้ใดรับเอาฟักทองคำกลับบ้านได้ มีเพียงสาวน้อยนั้นที่กล้าเอ่ยปากว่า ตนรักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ ชายแก่จึงมอบฟักทองคำให้นางพร้อมกับแนะนำให้หมั่นสั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จากนั้น พระองค์ได้เสด็จจากไป สาวน้อยเมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ได้ไปบังเกิดเป็นธิดาของท้าวเวปจิตติจอมอสูร

     ท้าวเวปจิตติคิดว่า จะทำวิวาหมงคลแก่ลูกสาว จึงให้พวกอสูรประชุมกัน ฝ่ายท้าวสักกะทรงตรวจดูว่า นางสุชาดาไปเกิดที่ไหน ทรงเห็นว่า เกิดในภพอสูรซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์ศัตรูกับพระองค์ จึงหากุศโลบายที่จะนำนางมาเสวยทิพยสมบัติในดาวดึงส์ให้ได้ เมื่อรู้ว่า บัดนี้เป็นเวลาที่ธิดาของจอมอสูรจะเลือกคู่ พระองค์เห็นเป็นโอกาสดี จึงทรงแปลงกายเป็นอสูรแก่ประทับยืนท่ามกลางพวกอสูร โดยไม่มีใครสังเกตออก เพราะในมหาสมาคมนี้มีอสูรผู้มีฤทธิ์มีเดชมาชุมนุมกันมากมาย

     นางตรวจดูรู้ว่าเป็นท้าวสักกะแปลงมา เกิดความรักเพราะเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ปางก่อน จึงเหวี่ยงพวงมาลัยไปคล้องคอท้าวสักกะ เมื่อท้าวสักกะเห็นว่านางเลือกพระองค์แล้ว จึงรีบจับแขนนางเหาะกลับขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทันที ทรงตั้งนางไว้ในตำแหน่งหัวหน้านางฟ้อน ๒๕ โกฏิ ความปรารถนาตั้งแต่ครั้งเป็นนางนกกระยาง ก็กลายเป็นความจริงด้วยอานิสงส์ที่ตั้งตนไว้ชอบ คือรักษาศีลได้อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์นี่เอง

     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าการตั้งตนไว้ชอบเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นขั้นแรกในการสร้างความสุข และความสำเร็จให้กับตนเองทั้งทางโลกและทางธรรม จะไปสวรรค์หรือนิพพานก็ต้องเริ่มจากการความตั้งใจที่ดีนี่แหละ เมื่อตั้งใจไว้ดีแล้ว ก็ต้องทุ่มเทสุดความสามารถเพื่อมุ่งไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ผู้ที่รักความเจริญก้าวหน้า จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ให้ถูกต้องก่อน จากนั้นต้องพากเพียรพยายามเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น พวกเราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เราตั้งใจไว้ว่าจะสร้างบารมีกันเป็นทีม เพื่อมุ่งไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ขอให้รักษามโนปณิธานอันยิ่งใหญ่นี้ไว้ให้ดี ด้วยการเร่งรีบสั่งสมบุญอย่างเต็มที่กันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๔๐ หน้า ๓๕๙

ธรรมะเพื่อประชาชน ตอน ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๒

ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๒
      การปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิ (Meditation) ภาวนา คือการทำใจให้หยุดนิ่ง เพื่อกลั่นใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส เพราะใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส จะเป็นใจที่มีคุณภาพ มีความละเอียดนุ่มนวลควรแก่การงาน โดยเราจะต้องนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดำเนินจิตเข้าสู่เส้นทางสายกลาง เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในซึ่งเป็นที่ระลึกที่แท้จริงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย  เมื่อเข้าถึงได้แล้ว ความสุขที่ไม่มีประมาณเป็นเอกันตบรมสุขย่อมบังเกิดขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์บริบูรณ์ขึ้น เป็นชีวิตที่ปลอดภัยจากภัยทั้งปวงทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

* มีวาระพระบาลีใน ปทกุสลมาณวชาดก ความว่า

“เยน สิญฺจนฺติ ทุกฺขิตํ     เยน สิญฺจนฺติ อาตุรํ
ตสฺส มชฺเฌ มริสฺสามิ   ชาตํ สรณโต ภยํ

     ชนทั้งหลาย ย่อมรดผู้ที่มีความทุกข์ด้วยน้ำใด ชนทั้งหลายย่อมรดผู้ที่เร่าร้อนด้วยน้ำใด เราจักตายในท่ามกลางน้ำนั้น ภัยเกิดแต่ที่พึ่งอาศัยแล้ว”

     สิ่งที่เราใช้ประโยชน์อยู่ทุกๆ วันนั้น หากใช้สอยโดยไม่มีสติพินิจพิจารณา ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ เหมือนน้ำที่เราดื่มกินดับกระหายทุกวันนั้น สามารถให้โทษแก่เราได้เช่นกัน ในยามที่เราเกิดกระหายน้ำอย่างมาก หากดื่มด้วยความเร่งรีบ โดยไม่ระมัดระวังก็อาจสำลัก หรือดื่มมากเกินไปจนเกิดอาการจุกเสียด หรือบางครั้งน้ำอาจท่วมปอดตายได้เช่นกัน

     เรื่องราวเกี่ยวกับความอัศจรรย์แห่งมนต์ของพระโพธิสัตว์ ซึ่งท่านได้เรียนมาจากมารดาผู้เป็นยักษิณี แล้วได้เดินทางเข้ารับราชการในเมืองพาราณสี โดยมีบิดาเป็นผู้แนะนำ เมื่อรับราชการแล้ว ปุโรหิตยังไม่เคยเห็นพระโพธิสัตว์แสดงอานุภาพของมนต์ให้ประจักษ์ จึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทดสอบอานุภาพแห่งมนต์ พระราชาทรงเห็นด้วย ทั้งสองจึงถือดวงแก้วดวงที่สำคัญและมีค่ามากลงจากปราสาท พากันเดินวนเวียนอยู่ในพระราชนิเวศน์ ๓ ครั้ง แล้วพาดบันไดปีนขึ้นไปนอกกำแพง เข้าไปในศาลยุติธรรม นั่งพักที่นั่นสักครู่หนึ่งก็เดินกลับออกมา พาดบันไดที่ใหม่ตรงบริเวณปลายกำแพงอีกด้านหนึ่ง จากนั้นได้เดินวนรอบสระโบกขรณี ๓ รอบ แล้วลงไปในสระโบกขรณีวางแก้วมณีไว้ในสระนั้น หลังจากนั้นทั้งสองพากันเดินขึ้นปราสาทเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

     รุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้พระโพธิสัตว์เข้าเฝ้า พลางตรัสว่า “ดูก่อนเจ้าพราหมณ์ แก้วที่ถูกลักไปมีค่าควรเมืองทีเดียว ท่านจงติดตามกลับมาให้ได้” พระโพธิสัตว์จึงกราบทูลด้วยความมั่นใจว่า “ข้าแต่มหาบพิตร ขอพระองค์ทรงเบาพระทัยเถิด ของที่โจรลักไปถึง ๑๒ ปี ข้าพระองค์ยังสามารถติดตามมาได้ ฉะนั้นสิ่งของที่หายเมื่อคืนนี้ จะได้กลับมาในคืนวันนี้แหละพระเจ้าข้า”

     พระโพธิสัตว์ระลึกถึงมารดา แล้วร่ายมนต์จินดามณีทันที ท่านสามารถเห็นรอยเท้าของบุคคลทั้งสองอย่างชัดเจน จึงเดินตามรอยเท้านั้นทุกย่างก้าว จนมาถึงบริเวณสระโบกขรณี พระโพธิสัตว์เห็นรอยเท้าในน้ำ จึงเดินลงไปที่สระ แล้วหยิบแก้วมณีมาถวายพระราชา พร้อมกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช โจรสองคนนี้ พระองค์ทรงรู้จักดีพระเจ้าข้า” มหาชนที่เห็นเหตุการณ์ต่างปรบมือด้วยความชื่นชมยินดี

     พระราชาทรงดำริว่า มาณพนี้เดินตามรอยเท้าได้ ไม่ว่าจะอยู่บนบก ในอากาศหรือในน้ำ เขาอาจจะรู้เพียงตำแหน่งสิ่งของเท่านั้น แต่คงจับโจรไม่ได้หรอก จึงตรัสว่า “ดูก่อนมาณพ เจ้าจงนำโจรทั้งสองมามอบให้เราด้วย” พระโพธิสัตว์รู้ดีว่า โจรสองคนนี้เป็นใคร แต่ไม่ปรารถนาเปิดเผยแก่มหาชน จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช โจรอยู่ไม่ไกลจากที่นี้เลย ผู้ใดที่อยากจะได้ ผู้นั้นนั่นแหละเป็นโจร สิ่งของนั้นพระองค์ได้กลับมาคืนแล้ว จะมีประโยชน์อะไรกับพวกโจรเล่าพระเจ้าข้า”

     แม้ได้ฟังดังนั้น  พระราชาก็ยังไม่ทันได้คิด ปรารถนาที่จะทดสอบอีก จึงรับสั่งว่า “เจ้ารับราชการ ได้ทรัพย์จากเราวันละพัน จงนำโจรนั้นมาให้เราให้ได้ ให้สมกับเงินที่เราให้เจ้าไปเถิด” พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์ไม่ขอกราบทูลว่า ใครเป็นโจร แต่ข้าพระองค์จะเล่าเรื่องถวาย” พระโพธิสัตว์ได้ยกตัวอย่างเพื่ออุปมาอุปไมยว่า

     ในอดีตกาลมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง มีอาชีพเป็นนักฟ้อน วันหนึ่งสามีได้ซื้อสุรามากมายถือกลับบ้านมาด้วย เมื่อเดินมาถึงฝั่งแม่น้ำ เขานั่งดื่มจนเมามาย เอาพิณห้อยคอแล้วจับมือภรรยากล่าวว่า “มาเถิดน้องรัก เราจะพากันกลับบ้าน” จากนั้นทั้งสองได้ว่ายน้ำข้ามฝั่ง ขณะอยู่กลางแม่น้ำ สามีที่เมาบวกกับพิณที่หนักถ่วงคอ ทำให้เขาจมน้ำไป ภรรยาไม่อาจช่วยสามีได้ จึงสลัดสามีทิ้ง แล้วว่ายไปถึงฝั่งก่อน นางได้แต่ยืนดูสามีที่กำลังจมน้ำพลางคิดว่า สามีของเรากำลังจะจมน้ำตาย เราจะขอฟังเพลงที่สามีร้องเป็นครั้งสุดท้าย นางจึงขอให้สามีร้องเพลงขับให้ฟังด้วย

     สามีกล่าวว่า “น้องรัก เจ้าจะให้พี่ขับเพลงได้อย่างไรเล่า ขณะนี้น้ำอันเป็นที่พึ่งของมหาชนกำลังจะฆ่าพี่ ภัยเกิดจากสิ่งที่เป็นที่พึ่งของมหาชนแท้ๆ” เมื่อพระโพธิสัตว์เล่าเรื่องนี้ถวาย พร้อมทูลเตือนสติว่า “มหาราช น้ำเป็นที่พึ่งแก่มหาชนฉันใด พระราชาก็เป็นที่พึ่งของมหาชนฉันนั้น เมื่อภัยเกิดขึ้นจากสำนักของพระราชา ใครเล่าจะป้องกันภัยนั้นได้ เรื่องโจรที่พระองค์ปรารถนาจะรู้ตัวนั้นเป็นความลับ ข้าพระองค์ทูลอย่างบัณฑิต ขอพระองค์อย่าเอาโทษกับโจรทั้งสองนั้นเลย”

     แม้พระราชาได้สดับดังนั้นก็ตาม พระองค์ยังปรารถนาที่จะทดสอบต่อไปอีก จึงตรัสย้ำว่า “เจ้าจะรู้เรื่องที่ลี้ลับเช่นนี้ได้อย่างไร จงรีบนำโจรมามอบให้เราโดยเร็ว” พระโพธิสัตว์เล่าเรื่องถวายอีกว่า “ในกาลก่อนมีบ้านใกล้ประตูเมืองพาราณสี เป็นบ้านนายช่างหม้อ เมื่อเขาจะนำดินมาปั้นหม้อ ได้ขุดดินเหนียวมาปั้น วันหนึ่งในขณะที่ช่างปั้นหม้อกำลังขุดดินอยู่ มหาเมฆผิดฤดูได้ตั้งเค้า และฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำไหลท่วมเจิ่งนองไปทั่วอาณาบริเวณ กระแสน้ำได้ท่วมหลุม กองดินได้ไหลมากระทบศีรษะของนายช่างหม้อแตกเป็นแผลสาหัส ช่างหม้อร้องคร่ำครวญว่า พืชทั้งหลายงอกงามบนแผ่นดิน สัตว์ทั้งหลายอยู่อาศัยบนแผ่นดิน แต่บัดนี้ แผ่นดินพังทับศีรษะเราแตก ภัยเกิดจากที่พึ่งอาศัยแล้ว”

     เมื่อพระโพธิสัตว์เล่าถวายดังนี้ ได้แล้วสรุปว่า “แผ่นดินเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ พระราชาเป็นที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์ ขอพระองค์โปรดรับรู้ว่า ข้าพระองค์ปกปิดว่าใครเป็นโจร ด้วยข้ออุปมาที่เล่าถวายเถิดพระเจ้าข้า” แม้พระราชาจะทรงรู้ว่า พระโพธิสัตว์หวังดีกับตน แต่ด้วยมานะของกษัตริย์ พระองค์ได้บังคับให้พระโพธิสัตว์ชี้โจรให้พระองค์ทอดพระเนตร พระโพธิสัตว์ได้ประกาศท่ามกลางมหาชนว่า “ข้าแต่มหาราช เหล่าโจรที่ลักขโมยแก้วมณี คือพระองค์กับปุโรหิตนั่นแหละพระเจ้าข้า” พระราชาและมหาชนฟังดังนี้ ต่างอัศจรรย์ในมนต์ของพระโพธิสัตว์ พากันยินดีปรีดาถ้วนหน้า ต่อมาหลังจากพระราชาสวรรคต มหาชนจึงพร้อมใจกันสถาปนาพระโพธิสัตว์ขึ้นครองราชย์สืบไป

     เราจะเห็นได้ว่า ความอัศจรรย์แห่งมนต์ในอดีตนั้นน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้จะมีมนต์วิเศษเช่นนี้ ก็ไม่อาจนำเราให้พ้นจากกองทุกข์ได้ มีมนต์ชนิดเดียวเท่านั้น คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะนำพาเราและสรรพสัตว์ผู้ปฏิบัติตามคำสอนให้พ้นจากทุกข์ได้จริง มนต์บทนี้น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง เป็นพุทธมนต์ที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่จะนำเราไปสู่สวรรค์สู่นิพพานได้ ซึ่งเราจะเรียนรู้ได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ฉะนั้นให้ตั้งใจฝึกฝนอบรมใจของเราให้หยุดนิ่ง แล้วเราจะได้เรียนมนต์วิเศษอย่างนี้กันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๖๕๙