วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2559

ทำความดีต้องมีกุศโลบาย

      คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะทุกถ้อยคำที่เปล่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประดุจถ้อยคำเพชรพลอย ที่กลั่นออกมาจากใจที่ใสบริสุทธิ์ สามารถยังใจของผู้ฟังให้บริสุทธิ์ผ่องใส การที่เราได้ดำรงตนอยู่ในคำสอนของพระพุทธองค์ จึงเป็นบุญลาภอันประเสริฐยิ่ง การทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสนั้น เป็นพระพุทโธวาทหลักของพระองค์ที่ตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ คือการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ซึ่งการที่เราจะทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้ ต้องนำใจกลับมาไว้ ณ ฐานที่ตั้งดั้งเดิมของใจ คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ได้ตลอดเวลา และต้องหมั่นประกอบความเพียรในทุกอิริยาบถด้วย

มีอุทานคาถาที่ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสไว้ด้วยความปีติว่า

“อโห ทานํ ปรมทานํ กสฺสเป สุปติฏฺฐิตํ
โอหนอ ทานนี้เป็นทานอันเลิศ เราได้ถวายไว้ดีแล้วในพระกัสสปเถรเจ้า”

      คาถานี้เป็นเทวอุทานที่พระอินทร์ได้เปล่งออกมาจากใจหลังจากที่ได้ทำบุญใหญ่ คือได้ถวายทานกับพระอรหันต์ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ อันเป็นเหตุให้พระองค์ได้ความเป็นจอมเทพ ที่ไม่มีเทพองค์ใดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีอานุภาพเสมอเหมือน การทำบุญถูกเนื้อนาบุญนี้ ถือเป็นหลักสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เพราะการให้ทาน นอกจากจะให้ด้วยจิตเลื่อมใสแล้ว คือผู้ให้บริสุทธิ์ วัตถุทานบริสุทธิ์ และผู้รับต้องบริสุทธิ์ด้วย เปรียบเหมือนเรามีความตั้งใจจะหว่านเมล็ดพืชพันธุ์ดีลงในผืนนา ถ้านาอุดมสมบูรณ์ ปราศจากวัชพืช ผลผลิตที่เกิดขึ้น ย่อมได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยฉันใด ผลที่เกิดจากการทำถูกทักขิไณยบุคคลก็เช่นกันฉันนั้น แม้ทำน้อยก็ได้ผลมาก ถ้าทำมากก็ได้ผลมากยิ่งๆ ขึ้นไป

     * ดังเรื่องของท้าวสักกะจอมเทพ ภพชาติในอดีตครั้งที่ยังเป็นมฆมาณพนั้น ท่านได้ฝึกตนเองอย่างเต็มที่ ทั้งการบริจาคทาน ก็ได้ชื่อว่าเป็นยอดนักเสียสละ การบำเพ็ญวัตตบท ๗ ตลอดชีวิต ไม่มีใครทำได้อย่างท่าน เป็นนักรณรงค์เพื่อให้มนุษย์รักในการทำความดี เมื่อละโลกไปแล้ว บุญส่งผลให้ท่านได้เป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ปกครองชาวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาตลอด

     เนื่องจากพระอินทร์ไม่ได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ แม้จะได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำของชาวสวรรค์ แต่รัศมีกายของพระองค์ก็ยังด้อยกว่าเทพเหล่าอื่นๆ จึงดำริที่จะหาโอกาสลงไปยังโลกมนุษย์ เพื่อเสริมบุญบารมีให้เพิ่มขึ้น จวบจนมาถึงสมัยพุทธกาลนี้

     วันหนึ่ง เหล่าเทพอัปสร ๕๐๐ นางซึ่งเป็นบริจาริกาของพระองค์อยากได้บุญใหญ่ จึงชวนกันถืออาหารหวานคาว มายืนดักรอตักบาตรพระกัสสปเถระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ พวกเธอกล่าวเชื้อเชิญพระเถระให้รับบาตร แต่ได้รับการปฏิเสธจากพระเถระ

     นางอัปสรได้อ้อนวอนพระเถระว่า ขอท่านได้โปรดสงเคราะห์พวกดิฉันด้วยเถิด แต่เมื่อได้รับการปฏิเสธถึง ๓ ครั้ง จึงกลับไปยังเทวโลกด้วยความผิดหวัง พวกนางได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท้าวสักกะฟัง ทำให้พระองค์ทรงอยากได้บุญกับพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ จึงหากุศโลบายที่จะทำบุญกับพระเถระ

     เช้าวันนั้น พระอินทร์พร้อมด้วยสุชาดาเทพกัญญา ได้เหาะลงจากเทวโลก แปลงเป็นช่างหูกชรายากจนเข็ญใจ มีฟันหัก ผมหงอก หลังโกง  ส่วนสุชาดาก็เนรมิตกายเป็นหญิงชรา เดินงกๆ เงิ่นๆ และยังทรงเนรมิตถนนช่างหูกขึ้นสายหนึ่ง ประทับขึงหูกอยู่ตามลำพัง ฝ่ายพระเถระเดินบ่ายหน้าเข้าเมืองด้วยหวังว่า “จักทำความสงเคราะห์พวกคนเข็ญใจ” ได้มองเห็นถนนสายนั้นอยู่นอกเมือง และมองเห็นผู้เฒ่าทั้งสองกำลังขึงหูกกรอด้ายกันอยู่

     พระเถระมีจิตเมตตาว่า “สองตายายนี้ แม้แก่เฒ่าก็ยังทำงาน ในเมืองนี้ผู้ที่จะเข็ญใจกว่าสองคนนี้เห็นจะไม่มี เราควรที่จะอนุเคราะห์สองตายายให้มีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป จากนั้นได้บ่ายหน้าตรงไปที่บ้านของคนทั้งสอง ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นพระเถระกำลังมา จึงตรัสบอกสุชาดาว่า “พระคุณเจ้าของเรากำลังเดินมาทางนี้แล้ว เธอจงนั่งทำเป็นเหมือนไม่เห็นท่าน ฉันจะลวงท่านสักครู่หนึ่ง แล้วจึงจะถวายบิณฑบาต” เมื่อพระเถระมายืนอยู่หน้าประตูบ้าน สองตายายก็ทำเป็นมองไม่เห็น ยังคงก้มหน้าก้มตาทำงานอยู่ ท้าวสักกะทำเป็นเอ่ยขึ้นว่า “ที่ประตูบ้านดูเหมือนมีพระเถระยืนอยู่รูปหนึ่ง เธอจงไปตรวจดูซิ ว่าใครมา”

      สุชาดาแกล้งทำเป็นลุกไม่ค่อยไหว และพูดเกี่ยงให้ท้าวสักกะออกไปต้อนรับแทน ท้าวเธอจึงเสด็จออกจากเรือน ทรงก้มลงกราบพระเถระ จากนั้นทรงเอาพระหัตถ์ทั้งสองลูบเท้าพระเถระ ถอนใจแล้วเสด็จลุกขึ้น ย่อพระองค์ลงเล็กน้อยตรัสถามว่า “ตาของข้าพเจ้าฝ้าฟาง มองไม่ค่อยเห็นพระคุณเจ้า ท่านเป็นพระเถระรูปไหนหนอ” พระอินทร์แกล้งทำเป็นวางพระหัตถ์ไว้เหนือหน้าผาก ป้องหน้าแหงนดู ตรัสว่า “โอ ตายจริง นี่ คือ พระมหากัสสปเถระของเรา นานหนอจะได้เห็นพระมาเยี่ยมถึงกระท่อมน้อยของเรา ยายแก่เอ้ย มีอาหารอะไรที่พอจะทำบุญให้ทานบ้างไหม”

      สุชาดาทำเป็นกุลีกุจอรีบไปดูอาหารในครัว ร้องบอกให้พระเถระโปรดหยุดรอสักครู่ แล้วเดินงกๆ เงิ่นๆ ถืออาหารมาถวายพระเถระ พระเถระได้ส่งบาตรให้ไปด้วยความเอ็นดู ท้าวสักกะทรงคดข้าวสุกออกจากหม้อใส่จนเต็มบาตร แล้วมอบถวายในมือพระเถระ บิณฑบาตนั้นมีแกงและกับมากมาย กลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วกรุงราชคฤห์

     พระเถระคิดว่า ชายแก่นี้เป็นคนยากเข็ญ แต่อาหารนั้นประณีตเหมือนสุธาโภชน์ของท้าวสักกะ” ครั้นพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง ก็รู้ว่าเป็นท้าวสักกะ จึงตำหนิว่า “พระองค์ทรงแย่งสมบัติของคนเข็ญใจ เป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะผู้ใดก็ตามที่ถวายทานแก่อาตมภาพในวันนี้ จะได้ตำแหน่งเสนาบดีหรือตำแหน่งมหาเศรษฐีประจำเมืองทีเดียว”

      ท้าวสักกะกราบเรียนว่า “แม้ข้าพเจ้าจะได้เสวยสิริราชสมบัติในเทวโลก แต่ก็จัดว่าเป็นคนเข็ญใจในเทวโลก เพราะในปัจจุบัน เทพบุตรผู้มีศักดิ์เสมอกัน ๓ องค์ คือจูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร และอเนกวัณณเทพบุตรได้ทำบุญถูกเนื้อนาบุญ ได้ไปบังเกิดใกล้กับปราสาทของข้าพเจ้า เป็นผู้มีฤทธิ์มีเดชมากกว่าข้าพเจ้า เมื่อเทพบุตรทั้งสามพาเทพนารีบริวารไปชมทิพยอุทยานผ่านมาทางวิมานของข้าพเจ้า เดชจากสรีระของเทพบุตรทั้งสามนั้นท่วมทับสรีระของข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าต้องหลบเข้าไปอยู่ในวิมาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะเข็ญใจกว่าข้าพเจ้าเป็นไม่มี”

     พระเถระได้ฟังความทุกข์ของพระอินทร์แล้ว บังเกิดจิตเมตตาสงสาร จึงอนุโมทนาในกุศลเจตนาของพระองค์ ท้าวสักกะถามว่า “เมื่อกระผมลวงถวายทาน กุศลจะเกิดขึ้นหรือไม่” ครั้นได้รับคำยืนยันว่าได้บุญเหมือนกัน พระอินทร์รู้สึกปีติใจมาก ทรงไหว้พระเถระ พาสุชาดาทำประทักษิณรอบพระเถระ แล้วเหาะขึ้นสู่เวหา พระองค์เกิดปีติโสมนัสที่ได้ถวายทานด้วยโภชนะที่เป็นทิพย์เช่นนี้ จึงเปล่งอุทานขึ้น ๓ ครั้ง ว่า “โอหนอ ทานนี้เป็นทานอันเลิศ เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในพระกัสสปเถระ”

     ด้วยอานิสงส์ที่ท้าวสักกะได้ทำบุญใหญ่ โดยเป็นผู้ทำบุญที่ประกอบด้วยสมบัติ ๓ ประการ คือ เขตสมบัติ ให้ทานที่ถึงพร้อมด้วยบุญเขตอันยอดเยี่ยม วัตถุสมบัติ ถึงพร้อมด้วยไทยธรรมอันเลิศ และจิตสมบัติ ถึงพร้อมด้วยจิตที่เลื่อมใสอันไม่มีประมาณ นับว่าเป็นการบำเพ็ญทานที่สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบที่จะเป็นเหตุให้ได้มหาสมบัติใหญ่ บุญนั้นจึงส่งผลให้พระองค์ได้เป็นจอมเทพมีรัศมีกายที่สว่างไสว ได้ความเป็นเลิศทั้งรูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ สัมผัสทิพย์ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยความเป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

     จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า การถวายทานถูกทักขิไณยบุคคลนั้น ไม่ใช่ของง่าย แม้แต่พระอินทร์ยังต้องอาศัยกุศโลบายจึงจะถวายทานได้สำเร็จ จะทำบุญต้องอาศัยดวงปัญญา และต้องทำให้ถูกเนื้อนาบุญ จึงจะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมบัติทั้ง ๓ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ  ดังนั้นนักสร้างบารมีต้องฉลาดในการสร้างบารมี ให้พวกเราทุกคนได้ตระหนักในเรื่องการทำบุญที่ถูกหลักวิชากันให้ดี และหมั่นสั่งสมบุญให้เต็มที่ เต็มกำลัง ทั้งทาน ศีล ภาวนา ที่สำคัญคือต้องตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยให้ได้กันทุกๆ คน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๔๑ หน้า ๑๒๑

ดำรงตนบนหนทางสู่สวรรค์

      เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง เพื่อแสวงหาพระรัตนตรัยหรือต้องการเข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่คงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุข ที่เป็นสุขล้วนๆ และเป็นตัวตนที่แท้จริง ธรรมกายนี้เป็นธรรมขันธ์ มีความสะอาดบริสุทธิ์ล้วนๆ ส่วนขันธ์ ๕ หรือร่างกายของเรา เป็นสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นทุกข์ ไม่อาจจะทนอยู่ในสภาพเดิมได้ เพราะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ต้องคอยดูแลเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา  ดังนั้น การแสวงหาพระธรรมกายจึงเป็นการแสวงหาของจริง ซึ่งเป็นเป้าหมายอันสูงสุดของมวลมนุษยชาติ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

“น ตํ มาตา ปิตา กยิรา  อญฺเญ วาปิ จ ญาตกา
สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ     เสยฺยโส นํ ตโต กเร

      มารดาบิดา หรือว่าญาติเหล่าอื่น ไม่พึงทำเหตุนั้นให้ได้ แต่จิตอันตั้งไว้ชอบแล้ว พึงทำเขาให้ประเสริฐกว่าเหตุนั้น”

      การสั่งสมบุญเป็นเหตุนำสุขมาให้ เป็นเรื่องเฉพาะตน ใครทำคนนั้นก็ได้ จะทำแทนกันไม่ได้ เหมือนกินข้าว ใครกินคนนั้นก็อิ่ม พ่อแม่หรือหมู่ญาติพี่น้อง ก็ช่วยเหลือได้เพียงให้คำแนะนำที่ดีๆ หากเราปรารถนาความสุขและความสำเร็จ ก็ต้องขยันหมั่นเพียรทุ่มเทแรงกายแรงใจให้เต็มที่ ไม่เกียจคร้าน ไม่มีข้อแม้ข้ออ้างที่ทำให้เราประมาท ถ้าอยากมีความสุขบนสวรรค์ก็ต้องประกอบเหตุในเมืองมนุษย์ หมู่ญาติเพื่อนพ้องทำแทนให้ไม่ได้ มีเพียงจิตที่ตั้งไว้ดีแล้วบนเส้นทางบุญกุศลเท่านั้นที่ช่วยเราได้ แล้วมุ่งมั่นสั่งสมบุญอยู่เป็นนิตย์ บุญนั้นย่อมส่งผลให้เราสมปรารถนาในทุกสิ่ง

     * ในยุคที่พระพุทธศาสนายังไม่บังเกิดขึ้น มีมาณพหนุ่มชื่อมฆมาณพ ท่านมีอัธยาศัยที่งดงาม ชอบสร้างรมณียสถานให้กับคนทั้งหลาย เพราะเป็นสถานที่เป็นที่รักที่ชอบใจของทุกคน เพราะฉะนั้น เวลาไปไหน ท่านจะถือจอบเสียมไปด้วย แล้วทำพื้นที่บริเวณต่างๆ ให้ราบเรียบ

     ต่อมาเพื่อนอีก ๓๒ คน เห็นมฆมาณพตั้งใจทำสิ่งที่ดี เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม จึงมาร่วมอุดมการณ์ ช่วยกันสร้างหนทางไปสู่สวรรค์ บางครั้งฝ่ายบ้านเมืองมองไม่เห็นความดี ถูกกลั่นแกล้งถึงขนาดเอาชีวิตเลยทีเดียว แต่ด้วยความตั้งใจที่จะสร้างความดี จึงทำให้สามารถรอดพ้นจากภยันตรายมาได้ แล้วยังได้รับการสนับสนุนจากพระราชา ให้ทำสิ่งที่ดีนี้ต่อไป สหายทั้ง ๓๓ คนได้ปรึกษากันว่า จะสร้างศาลาเป็นที่พักถาวรสำหรับมหาชนตรงทางสี่แยก จึงสั่งให้หาช่างมา แล้วเริ่มสร้างศาลาหลังใหญ่

     มฆมาณพมีภรรยา ๔ คน คือ นางสุชาดา นางสุธรรมา นางสุจิตราและนางสุนันทา นางสุธรรมาอยากมีส่วนบุญในการสร้างศาลาหลังใหญ่นั้น จึงจ้างช่างไม้ให้ทำช่อฟ้าอย่างดี ให้นำไปติดตั้งไว้บนศาลา พร้อมกับให้เขียนป้ายว่า ศาลาสุธรรมา ศาลาหลังนี้มี ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งทำเป็นที่พักของผู้หลักผู้ใหญ่ ส่วนหนึ่งสำหรับพวกคนยากคนจน อีกส่วนหนึ่งสำหรับคนเจ็บป่วย

     นางสุนันทาอยากได้บุญบ้าง จึงให้ขุดสระบัวไว้ใกล้ๆ ใครมาเยือนศาลาหลังนี้ก็สามารถลงไปอาบได้ตามชอบใจ นางสุจิตราให้ปลูกพุ่มไม้ดอกไม้ประดับ และไม้หอมนานาพันธุ์ ทุกคนที่มาพักศาลาแห่งนี้ต่างอดไม่ได้ที่จะต้องไปเดินเที่ยวในสวนนี้ ส่วนนางสุชาดากลับคิดว่า บุญใดที่สามีของเราได้ทำไว้ ก็เหมือนนางเป็นคนสร้างด้วย จึงเอาแต่เที่ยวส่องกระจกตกแต่งประดับประดาร่างกายเท่านั้น

     เมื่อมฆมาณพละจากมนุษยโลก ได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกะบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อนบ้านทั้ง ๓๒ คน เป็นเทพบุตร เกิดในสำนักของท้าวสักกะ ปราสาทชื่อไพชยนต์ของท้าวสักกะผุดขึ้นสูงตั้งเจ็ดร้อยโยชน์ ด้วยผลแห่งไม้ช่อฟ้าของนางสุธรรมา จึงบังเกิดเทวสภา ชื่อสุธรรมา กว้างสามร้อยโยชน์ ด้วยผลแห่งสระบัวของนางสุนันทา เกิดสระบัวชื่อนันทากว้างห้าสิบโยชน์ และด้วยผลแห่งสวนพุ่มไม้ดอกไม้ประดับของนางสุจิตราเกิดอุทยานชื่อจิตรลดาวันกว้างหกสิบโยชน์

     ท้าวสักกะทรงตรวจดูมหาสมบัติ ทรงเห็นเทพธิดาทั้ง ๓ เท่านั้น แต่ไม่เห็นนางสุชาดา จึงตรวจดูด้วยทิพยจักษุ ทรงรู้ว่านางไปเกิดเป็นนางนกกระยาง เพราะไม่ยอมทำบุญกุศลใดๆ ไว้ พระอินทร์จึงเสด็จลงจากเทวโลกไปหานางนกกระยาง พร้อมกับตรัสบอกว่า “สุชาดาเอ๋ย เพราะเจ้าไม่ทำตามคำของเรา ที่ชักชวนให้สั่งสมบุญกุศลไว้ มัวแต่แต่งเนื้อแต่งตัว จงมาดูสมบัติของพวกเราบนสวรรค์เถิด” จากนั้นได้พานางไปเทวโลกด้วยฤทธานุภาพ ทรงปล่อยนางนกกระยางที่สระบัวชื่อนันทา ให้นกกระยางดูสมบัติอันเป็นทิพย์ ซึ่งบังเกิดขึ้นด้วยบุญญานุภาพ ที่ทำไว้ครั้งเมื่อยังเป็นมนุษย์นั่นเอง

     จากนั้นพระองค์ทรงนำนางไปปล่อยในหนองน้ำตามเดิม พลางตรัสว่า “ขอให้เธอรักษาศีลยิ่งชีวิต ถ้าทำได้ เธอจะได้เป็นใหญ่กว่าเหล่าเทพนารีทั้งหมดในดาวดึงส์” นางรับปากว่าจะรักษาศีล ๕ ให้ได้  ครั้นล่วงไปได้สองสามวัน ท้าวสักกะทรงคิดว่า นางรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้หรือไม่ จึงแปลงเป็นปลาใกล้ตาย นอนหงายท้องลอยน้ำมาตรงหน้านาง นางคิดว่า คงเป็นปลาตาย จึงคาบเอาที่หัว เมื่อเห็นปลากระดิกหาง ก็รู้ว่ายังไม่ตาย จึงปล่อยลงน้ำไป ท้าวสักกะทรงทดลองอยู่หลายครั้ง จนมั่นใจว่า นางตั้งใจรักษาศีลตามที่ทรงแนะนำ จึงประทับยืนในอากาศอนุโมทนากับนาง แล้วอันตรธานหายไป

     เนื่องจากเป็นสัตว์เดียรัจฉาน กว่าจะหาปลาตายสักตัวได้นั้น สุดแสนจะยากลำบากสำหรับนาง แต่อาศัยกำลังใจที่สูงส่ง นางจึงไม่ยอมละเมิดศีล เมื่อละจากอัตภาพนั้น บุญที่เกิดจากการรักษาศีล ส่งผลให้นางไปบังเกิดเป็นลูกสาวช่างหม้อ เมื่อท้าวสักกะรู้ว่านางได้เป็นมนุษย์แล้ว จึงแปลงเป็นชายแก่เอาฟักทองคำบรรทุกใส่ยานพาหนะไปจนเต็ม พลางป่าวประกาศว่า “พวกท่านทั้งหลายจงมารับเอาฟักทองคำนี้เถิด แต่เราจะให้เฉพาะผู้รักษาศีลเท่านั้น”

     ไม่มีชาวบ้านคนใดรักษาศีล ๕ ได้บริบูรณ์ จึงไม่มีผู้ใดรับเอาฟักทองคำกลับบ้านได้ มีเพียงสาวน้อยนั้นที่กล้าเอ่ยปากว่า ตนรักษาศีล ๕ ได้บริสุทธิ์ ชายแก่จึงมอบฟักทองคำให้นางพร้อมกับแนะนำให้หมั่นสั่งสมบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จากนั้น พระองค์ได้เสด็จจากไป สาวน้อยเมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ได้ไปบังเกิดเป็นธิดาของท้าวเวปจิตติจอมอสูร

     ท้าวเวปจิตติคิดว่า จะทำวิวาหมงคลแก่ลูกสาว จึงให้พวกอสูรประชุมกัน ฝ่ายท้าวสักกะทรงตรวจดูว่า นางสุชาดาไปเกิดที่ไหน ทรงเห็นว่า เกิดในภพอสูรซึ่งเป็นคู่ปรปักษ์ศัตรูกับพระองค์ จึงหากุศโลบายที่จะนำนางมาเสวยทิพยสมบัติในดาวดึงส์ให้ได้ เมื่อรู้ว่า บัดนี้เป็นเวลาที่ธิดาของจอมอสูรจะเลือกคู่ พระองค์เห็นเป็นโอกาสดี จึงทรงแปลงกายเป็นอสูรแก่ประทับยืนท่ามกลางพวกอสูร โดยไม่มีใครสังเกตออก เพราะในมหาสมาคมนี้มีอสูรผู้มีฤทธิ์มีเดชมาชุมนุมกันมากมาย

     นางตรวจดูรู้ว่าเป็นท้าวสักกะแปลงมา เกิดความรักเพราะเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ปางก่อน จึงเหวี่ยงพวงมาลัยไปคล้องคอท้าวสักกะ เมื่อท้าวสักกะเห็นว่านางเลือกพระองค์แล้ว จึงรีบจับแขนนางเหาะกลับขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทันที ทรงตั้งนางไว้ในตำแหน่งหัวหน้านางฟ้อน ๒๕ โกฏิ ความปรารถนาตั้งแต่ครั้งเป็นนางนกกระยาง ก็กลายเป็นความจริงด้วยอานิสงส์ที่ตั้งตนไว้ชอบ คือรักษาศีลได้อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์นี่เอง

     จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่าการตั้งตนไว้ชอบเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นขั้นแรกในการสร้างความสุข และความสำเร็จให้กับตนเองทั้งทางโลกและทางธรรม จะไปสวรรค์หรือนิพพานก็ต้องเริ่มจากการความตั้งใจที่ดีนี่แหละ เมื่อตั้งใจไว้ดีแล้ว ก็ต้องทุ่มเทสุดความสามารถเพื่อมุ่งไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ผู้ที่รักความเจริญก้าวหน้า จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ให้ถูกต้องก่อน จากนั้นต้องพากเพียรพยายามเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น พวกเราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เราตั้งใจไว้ว่าจะสร้างบารมีกันเป็นทีม เพื่อมุ่งไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ขอให้รักษามโนปณิธานอันยิ่งใหญ่นี้ไว้ให้ดี ด้วยการเร่งรีบสั่งสมบุญอย่างเต็มที่กันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๔๐ หน้า ๓๕๙

ธรรมะเพื่อประชาชน ตอน ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๒

ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๒
      การปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิ (Meditation) ภาวนา คือการทำใจให้หยุดนิ่ง เพื่อกลั่นใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส เพราะใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส จะเป็นใจที่มีคุณภาพ มีความละเอียดนุ่มนวลควรแก่การงาน โดยเราจะต้องนำใจมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดำเนินจิตเข้าสู่เส้นทางสายกลาง เพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในซึ่งเป็นที่ระลึกที่แท้จริงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย  เมื่อเข้าถึงได้แล้ว ความสุขที่ไม่มีประมาณเป็นเอกันตบรมสุขย่อมบังเกิดขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราสมบูรณ์บริบูรณ์ขึ้น เป็นชีวิตที่ปลอดภัยจากภัยทั้งปวงทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า

* มีวาระพระบาลีใน ปทกุสลมาณวชาดก ความว่า

“เยน สิญฺจนฺติ ทุกฺขิตํ     เยน สิญฺจนฺติ อาตุรํ
ตสฺส มชฺเฌ มริสฺสามิ   ชาตํ สรณโต ภยํ

     ชนทั้งหลาย ย่อมรดผู้ที่มีความทุกข์ด้วยน้ำใด ชนทั้งหลายย่อมรดผู้ที่เร่าร้อนด้วยน้ำใด เราจักตายในท่ามกลางน้ำนั้น ภัยเกิดแต่ที่พึ่งอาศัยแล้ว”

     สิ่งที่เราใช้ประโยชน์อยู่ทุกๆ วันนั้น หากใช้สอยโดยไม่มีสติพินิจพิจารณา ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ เหมือนน้ำที่เราดื่มกินดับกระหายทุกวันนั้น สามารถให้โทษแก่เราได้เช่นกัน ในยามที่เราเกิดกระหายน้ำอย่างมาก หากดื่มด้วยความเร่งรีบ โดยไม่ระมัดระวังก็อาจสำลัก หรือดื่มมากเกินไปจนเกิดอาการจุกเสียด หรือบางครั้งน้ำอาจท่วมปอดตายได้เช่นกัน

     เรื่องราวเกี่ยวกับความอัศจรรย์แห่งมนต์ของพระโพธิสัตว์ ซึ่งท่านได้เรียนมาจากมารดาผู้เป็นยักษิณี แล้วได้เดินทางเข้ารับราชการในเมืองพาราณสี โดยมีบิดาเป็นผู้แนะนำ เมื่อรับราชการแล้ว ปุโรหิตยังไม่เคยเห็นพระโพธิสัตว์แสดงอานุภาพของมนต์ให้ประจักษ์ จึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทดสอบอานุภาพแห่งมนต์ พระราชาทรงเห็นด้วย ทั้งสองจึงถือดวงแก้วดวงที่สำคัญและมีค่ามากลงจากปราสาท พากันเดินวนเวียนอยู่ในพระราชนิเวศน์ ๓ ครั้ง แล้วพาดบันไดปีนขึ้นไปนอกกำแพง เข้าไปในศาลยุติธรรม นั่งพักที่นั่นสักครู่หนึ่งก็เดินกลับออกมา พาดบันไดที่ใหม่ตรงบริเวณปลายกำแพงอีกด้านหนึ่ง จากนั้นได้เดินวนรอบสระโบกขรณี ๓ รอบ แล้วลงไปในสระโบกขรณีวางแก้วมณีไว้ในสระนั้น หลังจากนั้นทั้งสองพากันเดินขึ้นปราสาทเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

     รุ่งขึ้น พระราชารับสั่งให้พระโพธิสัตว์เข้าเฝ้า พลางตรัสว่า “ดูก่อนเจ้าพราหมณ์ แก้วที่ถูกลักไปมีค่าควรเมืองทีเดียว ท่านจงติดตามกลับมาให้ได้” พระโพธิสัตว์จึงกราบทูลด้วยความมั่นใจว่า “ข้าแต่มหาบพิตร ขอพระองค์ทรงเบาพระทัยเถิด ของที่โจรลักไปถึง ๑๒ ปี ข้าพระองค์ยังสามารถติดตามมาได้ ฉะนั้นสิ่งของที่หายเมื่อคืนนี้ จะได้กลับมาในคืนวันนี้แหละพระเจ้าข้า”

     พระโพธิสัตว์ระลึกถึงมารดา แล้วร่ายมนต์จินดามณีทันที ท่านสามารถเห็นรอยเท้าของบุคคลทั้งสองอย่างชัดเจน จึงเดินตามรอยเท้านั้นทุกย่างก้าว จนมาถึงบริเวณสระโบกขรณี พระโพธิสัตว์เห็นรอยเท้าในน้ำ จึงเดินลงไปที่สระ แล้วหยิบแก้วมณีมาถวายพระราชา พร้อมกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช โจรสองคนนี้ พระองค์ทรงรู้จักดีพระเจ้าข้า” มหาชนที่เห็นเหตุการณ์ต่างปรบมือด้วยความชื่นชมยินดี

     พระราชาทรงดำริว่า มาณพนี้เดินตามรอยเท้าได้ ไม่ว่าจะอยู่บนบก ในอากาศหรือในน้ำ เขาอาจจะรู้เพียงตำแหน่งสิ่งของเท่านั้น แต่คงจับโจรไม่ได้หรอก จึงตรัสว่า “ดูก่อนมาณพ เจ้าจงนำโจรทั้งสองมามอบให้เราด้วย” พระโพธิสัตว์รู้ดีว่า โจรสองคนนี้เป็นใคร แต่ไม่ปรารถนาเปิดเผยแก่มหาชน จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช โจรอยู่ไม่ไกลจากที่นี้เลย ผู้ใดที่อยากจะได้ ผู้นั้นนั่นแหละเป็นโจร สิ่งของนั้นพระองค์ได้กลับมาคืนแล้ว จะมีประโยชน์อะไรกับพวกโจรเล่าพระเจ้าข้า”

     แม้ได้ฟังดังนั้น  พระราชาก็ยังไม่ทันได้คิด ปรารถนาที่จะทดสอบอีก จึงรับสั่งว่า “เจ้ารับราชการ ได้ทรัพย์จากเราวันละพัน จงนำโจรนั้นมาให้เราให้ได้ ให้สมกับเงินที่เราให้เจ้าไปเถิด” พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์ไม่ขอกราบทูลว่า ใครเป็นโจร แต่ข้าพระองค์จะเล่าเรื่องถวาย” พระโพธิสัตว์ได้ยกตัวอย่างเพื่ออุปมาอุปไมยว่า

     ในอดีตกาลมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง มีอาชีพเป็นนักฟ้อน วันหนึ่งสามีได้ซื้อสุรามากมายถือกลับบ้านมาด้วย เมื่อเดินมาถึงฝั่งแม่น้ำ เขานั่งดื่มจนเมามาย เอาพิณห้อยคอแล้วจับมือภรรยากล่าวว่า “มาเถิดน้องรัก เราจะพากันกลับบ้าน” จากนั้นทั้งสองได้ว่ายน้ำข้ามฝั่ง ขณะอยู่กลางแม่น้ำ สามีที่เมาบวกกับพิณที่หนักถ่วงคอ ทำให้เขาจมน้ำไป ภรรยาไม่อาจช่วยสามีได้ จึงสลัดสามีทิ้ง แล้วว่ายไปถึงฝั่งก่อน นางได้แต่ยืนดูสามีที่กำลังจมน้ำพลางคิดว่า สามีของเรากำลังจะจมน้ำตาย เราจะขอฟังเพลงที่สามีร้องเป็นครั้งสุดท้าย นางจึงขอให้สามีร้องเพลงขับให้ฟังด้วย

     สามีกล่าวว่า “น้องรัก เจ้าจะให้พี่ขับเพลงได้อย่างไรเล่า ขณะนี้น้ำอันเป็นที่พึ่งของมหาชนกำลังจะฆ่าพี่ ภัยเกิดจากสิ่งที่เป็นที่พึ่งของมหาชนแท้ๆ” เมื่อพระโพธิสัตว์เล่าเรื่องนี้ถวาย พร้อมทูลเตือนสติว่า “มหาราช น้ำเป็นที่พึ่งแก่มหาชนฉันใด พระราชาก็เป็นที่พึ่งของมหาชนฉันนั้น เมื่อภัยเกิดขึ้นจากสำนักของพระราชา ใครเล่าจะป้องกันภัยนั้นได้ เรื่องโจรที่พระองค์ปรารถนาจะรู้ตัวนั้นเป็นความลับ ข้าพระองค์ทูลอย่างบัณฑิต ขอพระองค์อย่าเอาโทษกับโจรทั้งสองนั้นเลย”

     แม้พระราชาได้สดับดังนั้นก็ตาม พระองค์ยังปรารถนาที่จะทดสอบต่อไปอีก จึงตรัสย้ำว่า “เจ้าจะรู้เรื่องที่ลี้ลับเช่นนี้ได้อย่างไร จงรีบนำโจรมามอบให้เราโดยเร็ว” พระโพธิสัตว์เล่าเรื่องถวายอีกว่า “ในกาลก่อนมีบ้านใกล้ประตูเมืองพาราณสี เป็นบ้านนายช่างหม้อ เมื่อเขาจะนำดินมาปั้นหม้อ ได้ขุดดินเหนียวมาปั้น วันหนึ่งในขณะที่ช่างปั้นหม้อกำลังขุดดินอยู่ มหาเมฆผิดฤดูได้ตั้งเค้า และฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้น้ำไหลท่วมเจิ่งนองไปทั่วอาณาบริเวณ กระแสน้ำได้ท่วมหลุม กองดินได้ไหลมากระทบศีรษะของนายช่างหม้อแตกเป็นแผลสาหัส ช่างหม้อร้องคร่ำครวญว่า พืชทั้งหลายงอกงามบนแผ่นดิน สัตว์ทั้งหลายอยู่อาศัยบนแผ่นดิน แต่บัดนี้ แผ่นดินพังทับศีรษะเราแตก ภัยเกิดจากที่พึ่งอาศัยแล้ว”

     เมื่อพระโพธิสัตว์เล่าถวายดังนี้ ได้แล้วสรุปว่า “แผ่นดินเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ พระราชาเป็นที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์ ขอพระองค์โปรดรับรู้ว่า ข้าพระองค์ปกปิดว่าใครเป็นโจร ด้วยข้ออุปมาที่เล่าถวายเถิดพระเจ้าข้า” แม้พระราชาจะทรงรู้ว่า พระโพธิสัตว์หวังดีกับตน แต่ด้วยมานะของกษัตริย์ พระองค์ได้บังคับให้พระโพธิสัตว์ชี้โจรให้พระองค์ทอดพระเนตร พระโพธิสัตว์ได้ประกาศท่ามกลางมหาชนว่า “ข้าแต่มหาราช เหล่าโจรที่ลักขโมยแก้วมณี คือพระองค์กับปุโรหิตนั่นแหละพระเจ้าข้า” พระราชาและมหาชนฟังดังนี้ ต่างอัศจรรย์ในมนต์ของพระโพธิสัตว์ พากันยินดีปรีดาถ้วนหน้า ต่อมาหลังจากพระราชาสวรรคต มหาชนจึงพร้อมใจกันสถาปนาพระโพธิสัตว์ขึ้นครองราชย์สืบไป

     เราจะเห็นได้ว่า ความอัศจรรย์แห่งมนต์ในอดีตนั้นน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้จะมีมนต์วิเศษเช่นนี้ ก็ไม่อาจนำเราให้พ้นจากกองทุกข์ได้ มีมนต์ชนิดเดียวเท่านั้น คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะนำพาเราและสรรพสัตว์ผู้ปฏิบัติตามคำสอนให้พ้นจากทุกข์ได้จริง มนต์บทนี้น่าเรียนรู้อย่างยิ่ง เป็นพุทธมนต์ที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่จะนำเราไปสู่สวรรค์สู่นิพพานได้ ซึ่งเราจะเรียนรู้ได้ด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ฉะนั้นให้ตั้งใจฝึกฝนอบรมใจของเราให้หยุดนิ่ง แล้วเราจะได้เรียนมนต์วิเศษอย่างนี้กันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๖๕๙

ธรรมะเพื่อประชาชน ตอน ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๑

 ความอัศจรรย์แห่งมนต์ ๑
 สิ่งที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตของคนเรา มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น คือบุญ เป็นสิ่งที่ทำให้เราสมปรารถนาในทุกสิ่ง เราจะเป็นผู้ที่สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และมรรคผลนิพพาน ก็ด้วยอานุภาพแห่งบุญที่ได้สั่งสมไว้ดีแล้ว การสั่งสมบุญจึงเป็นกิจที่เราจำเป็นต้องทำกันทุกวัน ทุกเวลา และทุกครั้งที่มีโอกาส ให้ทุกลมหายใจเป็นบุญเป็นกุศลล้วนๆ กันทุกคน

* มีวาระพระบาลีใน ปทกุสลมาณวชาดก ความว่า

“เยน ภตฺตานิ ปจฺจนฺติ    สีตํ เยน วิหญฺญติ
โส มํ ฑหติ คตฺตานิ      ชาตํ สรณโต ภยํ

     ชนทั้งหลายหุงอาหารด้วยไฟใด บรรเทาความหนาวด้วยไฟใด ไฟนั้นก็มาไหม้ตัวเรา ภัยเกิดแต่ที่พึ่งอาศัยแล้ว”

     สิ่งใดที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย หากเราใช้สอยสิ่งนั้นด้วยความไม่ระมัดระวัง ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ เหมือนคำกล่าวของพระโพธิสัตว์ ที่ท่านยกตัวอย่างไฟที่เราใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการหุงต้มอาหาร ให้ความอบอุ่น แต่ในประวัติศาสตร์โลกก็ได้บันทึกไว้มากมายที่ไฟได้ทำลายบ้านเมือง เผาป่าให้มอดไหม้เป็นจุล สร้างความเสียหายกับโลกมานับไม่ถ้วนเช่นกัน

     เมื่อสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามีผลต่อชีวิต เราต้องใช้สติปัญญาพิจารณาให้ดี ใช้สอยอย่างมีสติ เพื่อเราจะได้ไม่ต้องประสบทุกข์จากสิ่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้เพราะปรารภถึงทารกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของกุฎุมพีในนครสาวัตถี อายุเพียง ๗ ขวบเท่านั้น แต่เป็นเด็กอัจฉริยะในยุคนั้นทีเดียว เพราะเป็นเด็กที่ฉลาดในการสังเกตรอยเท้าของผู้คนทั้งหลาย ไม่ว่ารอยเท้าของผู้ใดผ่านเข้ามาในสายตา เด็กน้อยอัจฉริยะสามารถจดจำได้ทุกคน บิดาสังเกตเห็นความพิเศษของบุตรตนเอง จึงทดสอบอยู่หลายครั้ง เช่นวันหนึ่ง บิดาได้ปล่อยเด็กน้อยทิ้งไว้ แล้วได้เดินอ้อมไปยังทิศต่างๆ แล้ววกกลับไปที่วัดพระเชตวัน นั่งฟังธรรมของพระบรมศาสดาอยู่ในท่ามกลางพุทธบริษัท     

     เด็กน้อยเมื่อไม่เห็นพ่อของตน จึงเดินตามรอยเท้าของบิดาไปตามทิศต่างๆ จนกระทั่งมาถึงวัดพระเชตวัน เด็กน้อยได้ถวายบังคมพระศาสดาแล้วยืนอยู่ใกล้ๆ บิดา เมื่อบิดาถามว่า “ลูกตามพ่อมาถูกได้อย่างไร” เด็กน้อยก็เล่าวิธีที่ตนเองสะกดรอยเท้าของบิดามา พระพุทธองค์สดับถ้อยคำของสองพ่อลูกจึงตรัสถามว่า “มีอะไรกันหรืออุบาสก” กุฎุมพีจึงเล่าความสามารถพิเศษของบุตรชายตน พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับดังนี้แล้ว จึงตรัสว่า “อุบาสก การที่เด็กจำรอยเท้าบนพื้นดินได้นั้น ยังไม่น่าอัศจรรย์เท่าใด บัณฑิตในกาลก่อน สามารถจำรอยเท้าที่หายไปถึง ๑๒ ปีได้” จากนั้นทรงนำอดีตนิทานมาเล่าว่า     
     เมื่อครั้งที่พระเจ้าพรหมทัต ราชาแห่งเมืองพาราณสี ทรงมีมเหสีพระนางหนึ่ง มเหสีประพฤตินอกใจและถูกพระราชาจับได้ พระเทวีไม่ยอมรับ พร้อมกับสาบานว่า “หากหม่อมฉันนอกใจพระองค์ ขอให้เกิดเป็นยักษิณีที่มีหน้าเหมือนม้า” หลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว พระนางได้ไปเกิดเป็นยักษิณีที่มีหน้าเหมือนม้า อาศัยอยู่ที่เชิงเขาแห่งหนึ่ง คอยจับมนุษย์ที่เดินทางข้ามดงกินเป็นอาหาร และได้ไปดูแลท้าวเวสสวัณอยู่ ๓ ปีจึงได้รับพรให้จับมนุษย์กินได้ในอาณาเขตยาว ๓๐ โยชน์ และกว้าง ๕ โยชน์     

     วันหนึ่ง มีพราหมณ์หนุ่มรูปงาม เดินทางข้ามดงพร้อมด้วยเหล่าบริวาร ได้พลัดหลงเข้ามาในเขตของนางยักษิณี ยักษิณีเห็นเช่นนั้นก็ดีใจ รีบวิ่งเข้าไปอย่างรวดเร็วเหมือนลม จับพราหมณ์หนุ่มนั้นไว้     

     ครั้นได้เห็นใบหน้าที่หล่อเหลางดงามของพราหมณ์หนุ่ม ก็เกิดความรักใคร่ในพราหมณ์ จึงนำไปอยู่ด้วยกันในถ้ำ เมื่อยักษิณีออกไปหาอาหารก็จะใช้หินก้อนใหญ่ปิดปากถ้ำไว้ ทั้งสองได้อยู่ร่วมกัน ต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางยักษิณี ทารกน้อยมีรูปร่างหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู นางได้ให้บุตรอยู่ในถ้ำกับบิดา เมื่อเติบใหญ่ขึ้น พระโพธิสัตว์สังเกตเห็นว่า ใบหน้าของพ่อไม่เหมือนแม่ผู้ให้กำเนิดเลย จึงถามเรื่องราวทั้งหมดกับบิดา เมื่อรู้ความจริง พระโพธิ์สัตว์สงสารบิดาที่ต้องมาอยู่แต่ในถ้ำเป็นเวลานาน ทันทีที่แม่ออกไปหาอาหาร จึงใช้กำลังของตนผลักหินที่ปิดปากถ้ำ แล้วพาบิดาหนี แต่ก็ถูกแม่ยักษ์นำกลับมาอีกถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่สาม พระโพธิสัตว์จึงถามแม่ว่า “แม่ ธรรมดาว่าถิ่นของแม่ก็เป็นเหมือนถิ่นของลูก

     วันหนึ่ง มารดาผู้เป็นยักษิณีออกไปหาอาหาร พระโพธิสัตว์รีบนำบิดาขึ้นคอ แล้ววิ่งไปด้วยความเร็ว เพื่อออกไปให้พ้นอาณาเขตของมารดา จนกระทั่งข้ามแม่น้ำที่เป็นแนวเขตได้ ขณะกำลังยืนอยู่กลางแม่น้ำ มารดาผู้เป็นยักษ์กลับจากหาอาหาร ไม่พบสามีและบุตร จึงวิ่งตามมาด้วยความเร็ว เห็นคนทั้งสองอยู่กลางแม่น้ำ แต่ตนเองลงไปไม่ได้เพราะล่วงเขตไปแล้ว จึงยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ พลางพูดอ้อนวอนว่า “ลูกรัก เจ้าอย่าทำอย่างนี้เลย พาพ่อเจ้ากลับมาเถิด” พระโพธิสัตว์ตอบว่า “แม่ ที่ลูกทำเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าลูกไม่รักแม่นะ แต่ลูกปรารถนาที่จะกลับไปใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์ทั้งหลาย ขอแม่อย่าเป็นกังวลเลย เมื่อมีโอกาสลูกจะกลับมาเยี่ยมแม่”       

     ไม่ว่านางยักษิณีจะอ้อนวอนเพียงไรก็ตามก็ไม่อาจทำให้สองพ่อลูกเปลี่ยนใจได้ แม่จึงกล่าวกับลูกว่า “ลูกรัก การไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์นั้น หากไม่มีความรู้ก็ยากจะเอาตัวรอดได้ แม่จะสอนมนต์บทหนึ่งให้เจ้า มนต์บทนี้ชื่อ จินดามณี สามารถติดตามรอยเท้าของผู้ที่หายไปถึง ๑๒ ปีได้” และได้ให้พระโพธิสัตว์เรียนมนต์ หลังจากสอนมนต์ให้ลูกรักแล้ว นางก็กล่าวว่า “เมื่อไม่มีลูก และพ่อของเจ้า แม่ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้” กล่าวจบก็ทุบอกตนเองจนตายตรงริมฝั่งแม่น้ำนั่นเอง พระโพธิสัตว์และบิดาพากันร้องไห้เสียใจที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หลังจากเผานางยักษิณีแล้ว ทั้งสองเดินทางเข้าสู่เมืองพาราณสี     

     เมื่อเข้าไปในเมืองแล้ว บิดาพาพระโพธิสัตว์ไปสมัครรับราชการกับพระราชาพร้อมกราบทูลถึงความสามารถพิเศษ ที่บุตรมีวิชาสังเกตรอยเท้า เนื่องจากสมัยนั้น โจรชุกชุมมาก การปราบปรามโจรไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นปัญหาใหญ่ของราชสำนัก พระราชารู้ว่า มีบุคคลที่มีความสามารถพิเศษเช่นนั้น ทรงดีพระทัย รับสั่งให้เข้าเฝ้าและอนุญาตให้รับราชการ โดยพระราชทานทรัพย์วันละหนึ่งพัน แล้วให้อยู่แผนกตามจับเหล่าโจร ตั้งแต่นั้นมาพระโพธิสัตว์ได้รับราชการอยู่ในราชสำนัก แต่เนื่องจากเพิ่งจะเข้ามาใหม่ จึงยังไม่มีคดีที่ต้องสะสาง ฝ่ายปุโรหิตเมื่อเห็นพระโพธิสัตว์รับทรัพย์มากมาย โดยยังไม่ได้แสดงผลงานใดๆ จึงทูลพระราชาให้ทดสอบความสามารถของพระโพธิสัตว์ พระราชาก็ทรงปรารถนาเช่นนั้น จึงวางแผนกับปุโรหิตเพื่อทดสอบพระโพธิสัตว์ ส่วนพระโพธิสัตว์ถูกทดสอบอย่างไรนั้น เราจะมาศึกษากันในครั้งต่อไป

     เราจะเห็นว่า ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ย่อมเป็นที่ต้องการ และมักถูกทดสอบอยู่บ่อยๆ ดังนั้น เราจะต้องฝึกตัวของเราให้ดี หน้าที่ของเราก็ควรทำให้พร้อมในทุกๆ เรื่อง เราจะได้แก้ไขปัญหาทั้งหลายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยเฉพาะการที่เราจะต้องทำหน้าที่กัลยาณมิตร ชักชวนให้ทุกๆ คนมาสู่เส้นทางการสร้างบารมีนั้น ยิ่งจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับทุกสถานการณ์ หากเรามีความพร้อมเราก็จะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ทำหน้าที่ด้วยความภาคภูมิใจ และมีความสุขกันทุกๆ คน

พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

* มก. เล่ม ๕๙ หน้า ๖๕๙

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2559

ธรรมะเพื่อประชาชน ตอน ผู้ถึงความพินาศ


       ธรรมชาติของใจนั้น มีความว่องไวพร้อมจะท่องเที่ยวไปในทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา แม้ขณะช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ใจก็สามารถล่องลอยคิดไปได้หลายๆ เรื่อง ผู้ที่ไม่ระวังรักษาใจ ปล่อยให้ฟุ้งซ่านไปในอกุศล จะมีชีวิตที่สับสนวุ่นวาย เป็นอันตรายทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น เมื่อเรารู้เท่าทันธรรมชาติของใจ ว่าว่องไวต่อทั้งสิ่งที่บริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ เราควรรีบดูแลรักษาใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เต็มเปี่ยมไปด้วยความสงบสุข ด้วยการปฏิบัติธรรม ให้ใจดวงเดียวของเรานี้มีแต่สิ่งที่ดีงามอยู่ในใจ เพราะภาพดีงามในใจย่อมส่งผลดีต่อชีวิตของเรา ขอให้เรามีชีวิตอยู่กับความดี เพื่อให้ใจมีแต่ภาพที่ดีเก็บไว้ แม้วันหนึ่งเราจะต้องละจากโลกนี้ไป แต่ภาพแห่งความดีที่สั่งสมไว้ในใจ จะทำให้เราภาคภูมิใจไปตลอดกาล

มีวาระพระบาลีใน กาโปตกชาดก ว่า

     “ผู้ใดเมื่อบุคคลกล่าวสอนอยู่ ไม่ทำตามคำสอนของผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ผู้นั้นย่อมถึงความพินาศ ย่อมเศร้าโศกเหมือนกาที่ไม่เชื่อฟังคำของนกพิราบ ตกอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู”

     หากมีผู้มาตักเตือน เราต้องรับฟังด้วยความอ่อนน้อม ให้มีสติ อย่าเพิ่งชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ให้พิจารณาให้ดีก่อนว่า ที่เขามาตักเตือนเรานั้นมีเหตุผลแค่ไหน และเรื่องนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ หากเราพิจารณาแล้วว่า เขาตักเตือนเราด้วยความปรารถนาดี และหวังดีต่อเราจริงๆ แม้เรื่องนั้นอาจขัดความรู้สึกของเราบ้าง เราก็ควรรับฟัง แล้วรีบปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของบัณฑิตผู้รู้ทั้งหลาย การไม่เชื่อฟัง หรือดื้อดึงนั้น มีผลอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของเรา ซึ่งบางครั้งอาจมีผลถึงชีวิต ดังเรื่องของกา ที่ไม่เชื่อฟังคำเตือนของนกพิราบ จึงต้องวอดวายอย่างใหญ่หลวง ต้องนอนระทมทุกข์อยู่ในเงื้อมมือของศัตรูผู้นำความพินาศมาให้ ทั้งยังก่อให้เกิดทุกข์สิ้นกาลนาน

     * ในครั้งพุทธกาล ภิกษุทั้งหลายได้นำภิกษุโลเลรูปหนึ่ง มากราบทูลพระบรมศาสดาว่า “ภิกษุรูปนี้ มีนิสัยโลเลพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาตรัสถามว่า “จริงหรือภิกษุที่เขาว่าเธอมีนิสัยโลเล” ภิกษุนั้นกราบทูลว่า “จริงพระเจ้าข้า” พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ แม้ในครั้งก่อน เธอก็เป็นคนโลเล สิ้นชีวิตเพราะความโลเลของตน แม้บัณฑิตผู้อาศัยเธอก็ต้องพลัดพรากจากที่อยู่ไปด้วย” แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าดังนี้

     ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกพิราบ ครั้งนั้น ชาวเมืองพาราณสีพากันแขวนกระเช้าหญ้าไว้ในที่ต่างๆ เพื่อให้ฝูงนกได้อาศัยอยู่อย่างสบาย เพราะความเป็นผู้มีเมตตาใคร่ในบุญกุศล แม้พ่อครัวของท่านเศรษฐีกรุงพาราณสี ก็แขวนกระเช้าหญ้าไว้ภายในโรงครัวด้วย นกพิราบโพธิสัตว์ได้เข้าอยู่ในกระเช้านั้น รุ่งเช้าก็บินออกเที่ยวหากิน ตกเย็นจึงบินกลับมาหลับนอนในโรงครัวนั้น เป็นเช่นนี้ทุกๆ วัน

     อยู่มาวันหนึ่ง กาตัวหนึ่งบินข้ามโรงครัวไป ได้กลิ่นตลบอบอวลของปลาและเนื้อ ที่มีรสเปรี้ยวรสเค็ม เกิดความโลภคิดว่า “เราจักอาศัยใครหนอ จึงจะได้กินปลาและเนื้อนี้” คิดแล้วก็คอยสอดส่องหาลู่ทางอยู่ในที่ไม่ไกล ตกเย็นกาเห็นนกพิราบโพธิสัตว์บินเข้าไปในโรงครัว กาจึงคิดหาอุบายว่า จะต้องอาศัยนกพิราบนี้จึงจะได้กินเนื้อ

     วันรุ่งขึ้นการีบบินมาแต่เช้า ทันทีที่เห็นพระโพธิสัตว์บินออกหากิน กาก็บินตามไปข้างหลัง พระโพธิสัตว์เห็นดังนั้น จึงถามกาว่า “สหาย เพราะเหตุใดท่านจึงเที่ยวบินตามเรามา” กาตอบว่า “นาย ข้าพเจ้าชอบใจกิริยาของท่าน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะขอปรนนิบัติท่าน” พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “พวกท่านมีเนื้อเป็นอาหาร ส่วนเรามีพืชผักเป็นอาหาร เมื่อเรากินไม่เหมือนกันเช่นนี้ การปรนนิบัติของเรากับท่านจะทำได้ลำบาก” กาตอบว่า “นาย เวลาท่านบินไปหากิน ข้าพเจ้าก็ขอบินไปหากินด้วย” พระโพธิสัตว์จึงสอนว่า “ดีแล้ว ขอท่านพึงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด”

     พระโพธิสัตว์กล่าวสอนกาดังนี้แล้ว ก็เที่ยวแสวงหาอาหาร กินอาหารมีพืชพรรณติณชาติ เป็นต้น ขณะพระโพธิสัตว์กำลังหากิน กาก็บินไปพบกองขี้วัว จึงคุ้ยจิกกินตัวหนอน เมื่อเต็มกระเพาะก็รีบบินไปรอก่อน แล้วทำเป็นสอนพระโพธิสัตว์ผู้บินตามมาข้างหลังว่า “นาย ท่านเที่ยวเกินเวลา การทำตน เป็นผู้ตะกละตะกลามหาควรไม่” จากนั้นกาได้บินเข้าไปในโรงครัวพร้อมกับพระโพธิสัตว์ พ่อครัวเห็นดังนั้นก็กล่าวว่า “นกพิราบของเราพาตัวอื่นมา” พ่อครัวจึงแขวนกระเช้าให้กาได้อาศัยอยู่ด้วย

     วันหนึ่ง มีคนนำปลาและเนื้อจำนวนมากมาให้ท่านเศรษฐี พ่อครัวรับมาแขวนไว้ในโรงครัว กาเห็นแล้วเกิดความโลภ คิดในใจว่า “พรุ่งนี้เราจะไม่ไปหากิน จะกินปลาและเนื้อนี้” จึงแกล้งทำเป็นนอนป่วย รุ่งเช้าพระโพธิสัตว์จะไปหาอาหาร ร้องเรียกว่า “เราไปกันเถิด กาผู้สหาย” กาตอบว่า “นาย ท่านไปเถิด ข้าพเจ้ากำลังปวดท้อง” พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “สหายเอ๋ย ธรรมดาโรคปวดท้องไม่เคยเกิดขึ้นในพวกกาเลย แต่ไหนแต่ไรในยามทั้งสาม ตลอดราตรี กาย่อมหิวทุกๆ ยาม ถึงจะกลืนกินไส้ประทีปเข้าไปกาก็อิ่มอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ชะรอยท่านอยากกินปลาและเนื้อนี้ มาเถิด ขึ้นชื่อว่าของกินของมนุษย์เป็นของที่พวกท่านไม่ควรกิน ท่านอย่าทำเช่นนี้เลย ไปหากินด้วยกันกับเราเถิด” กาตอบว่า “นาย ข้าพเจ้าไปไม่ไหว” พระโพธิสัตว์จึงเตือนว่า “ท่านอย่าลุอำนาจความโลภ มิฉะนั้นแล้ว ท่านจักต้องรับกรรมของท่าน ขอท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด” จากนั้นพระโพธิสัตว์ก็บินออกไปหากินตามลำพัง

     พ่อครัวปรุงอาหารชนิดต่างๆ ด้วยปลาและเนื้อ แล้วเปิดภาชนะทิ้งไว้ เพื่อให้ไอน้ำระเหยออกมา โดยวางทัพพีไว้บนภาชนะด้วย ขณะพ่อครัวออกไปเช็ดเหงื่ออยู่ข้างนอกนั้น กาได้โผล่หัวขึ้นมาจากกระเช้า มองไปไม่เห็นพ่อครัวก็รู้ว่า พ่อครัวออกไปข้างนอก จึงคิดว่า บัดนี้ความปรารถนาของเราสำเร็จแล้ว เราจะเลือกกินเนื้อชิ้นใหญ่ หรือเนื้อชิ้นเล็กดีหนอ ครั้นแล้วก็เล็งเห็นว่า “ธรรมดาเนื้อชิ้นเล็กๆ เราไม่อาจกินให้เต็มกระเพาะได้ในเวลาอันสั้น อย่ากระนั้นเลย เราต้องคว้าชิ้นใหญ่ๆ มาทิ้งไว้ในกระเช้า แล้วค่อยๆ ขยอกกินจึงจะดี” คิดดังนี้แล้ว กาก็โผล่ออกจากกระเช้าลงไปแอบอยู่ใกล้ทัพพี เผอิญทัพพีหล่นบนพื้น เสียงดังลั่นโรงครัว

     พ่อครัวได้ยินเสียงจึงกลับเข้าไปดูในครัว เห็นกามาแอบอยู่ก็คิดว่า กาขี้ขโมยตัวนี้หวังจะกินเนื้อทอดของนายเรา ตัวเราต้องอาศัยท่านเศรษฐีเลี้ยงชีวิต มิใช่อาศัยกาพาลตัวนี้ เราอุตสาห์ให้ที่อยู่ มันยังทรยศได้  พ่อครัวรีบปิดประตูครัว แล้วต้อนจับกา เมื่อจับกาได้ ก็ถอนขนจนหมด จากนั้นก็ตำขิงสดผสมกับเกลือป่น คลุกกับเนยเปรี้ยว แล้วทาจนทั่วตัวกา เมื่อทาเสร็จก็โยนขึ้นไปบนกระเช้า กาได้รับความเจ็บแสบแสนสาหัส นอนหายใจแขม่วๆ อยู่ในกระเช้านั่นเอง

     ครั้นเวลาเย็นพระโพธิสัตว์บินกลับมา เห็นกาประสบความพินาศ จึงพูดว่า “ดูก่อนเจ้ากาโลเล เจ้าไม่เชื่อฟังคำของเรา อาศัยความโลภของเจ้าเป็นเหตุ จึงต้องประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง” ดังนี้แล้วกล่าวว่า “บุคคลใด เมื่อท่านผู้หวังดีมีความเอ็นดูเกื้อกูลกล่าวสอนอยู่ แต่มิได้กระทำตามคำสอนของบุคคลนั้น จึงต้องนอนระทมทุกข์เหมือนกาไม่กระทำตามถ้อยคำของนกพิราบ ต้องตกในเงื้อมมือของอมิตร นอนหายใจระทวยอยู่ ฉะนั้น” พระโพธิสัตว์คิดว่า บัดนี้เราไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้ เพราะเราทำให้เจ้าของบ้านต้องเดือดร้อน จึงบินไปอยู่ที่อื่น ส่วนกาก็สิ้นชีวิตอยู่ในกระเช้านั้นเอง

     พระบรมศาสดาได้ตรัสย้ำว่า “ดูก่อนภิกษุ มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เธอเป็นคนโลเล แม้ในปางก่อนก็เป็นผู้โลเลเหมือนกัน แม้บัณฑิตทั้งหลาย อาศัยความโลเลของเธอ ต้องพลอยออกจากที่อยู่ของตนไปด้วย” ครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุนั้นได้บรรลุอนาคามิผล เป็นผู้มีคติเที่ยงแท้แน่นอนต่อหนทางพระนิพพาน

     จะเห็นว่า การไม่รีบปฏิบัติตามคำแนะนำพร่ำสอนของบัณฑิตนั้น มีผลเสียหายมากต่อชีวิตของเรา อาจทำให้ประสบกับปัญหา และถึงแก่ความตายดังเช่นกาในเรื่องนี้ แต่หากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ไม่ร้ายแรงก็ยังทันแก้ไขได้ เมื่อเราได้ทำผิดพลาดไปแล้ว อาจมีบางครั้งที่รู้สึกอยากจะย้อนเวลากลับไปเพื่อใช้ชีวิตให้ดีกว่าที่ผ่านมา แต่ก็สายเกินไปแล้ว คงจะดีไม่น้อย หากเราได้รู้ว่า จะดำเนินชีวิตให้ดีที่สุดอย่างไร เพื่อจะได้ไม่ต้องหวนกลับมานึกเสียใจในชีวิตที่ผ่านมาแล้วนั้น

     ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต คือการที่เกิดมาแล้วไม่ได้ทำความดี ถือเป็นเรื่องผิดพลาดที่ร้ายแรง ผิดวัตถุประสงค์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าเรามัวอ้างว่า เรื่องโน้นก็สำคัญ เรื่องนี้ก็สำคัญ ทำให้ดูเหมือนว่าชีวิตไม่มีเวลาว่างเลย ขอจงตะหนักไว้ว่า ไม่มีเรื่องใดสำคัญเท่าการทำความดี คนที่ชอบอ้างว่าต้องทำเรื่องโน้น เรื่องนี้ อ้างว่ายังไม่พร้อมที่จะทำความดี จึงเป็นผู้ที่ประมาท เพราะการแสวงหาทรัพย์ หรือได้ครอบครองทรัพย์ ไม่อาจสร้างความสุขที่แท้จริง ไม่อาจทำให้เกิดบุญกุศลได้เท่ากับการใช้ทรัพย์นั้น ให้เกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อชาวโลก เราต้องหมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนาทุกๆ วัน ให้สั่งสมแต่ความดีทุกลมหายใจกันทุกคน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  

* มก. เล่ม ๕๖ หน้า ๑๖

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

ผู้จรรโลงพระพุทธศาสนา

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ใน ธนสูตร ความว่า

     ผู้ใดมีความเชื่อในพระตถาคต ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม อันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าประโยชน์”



     ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นทางนำไปสู่สวรรค์และนิพพาน 

       
พุทธศาสนิกชนในสมัยก่อนนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม แต่ความเลื่อมใสในพระองค์ก็ไม่เคยคลอนแคลน 


     อามิสบูชานั้นแสดงออกให้ชาวโลกได้ประจักษ์กันทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามภูเขา หรือหน้าผา หรือในถ้ำก็มี บางที่ก็สร้างเจดีย์ สร้างพุทธสถานอย่างเช่นบรมพุทโธในประเทศอินโดนีเซีย บ่งบอกถึงความศรัทธาเลื่อมใสของชาวพุทธในอดีต


     * ดังเช่นเมื่อครั้งอโศกกุมารเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระธรรมาโศกราช ได้โปรดให้สร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง พระองค์ทรงปรารถนาจะได้พระบรมธาตุมาประดิษฐานในพระวิหาร แต่ก็ยังไม่ทรงทราบว่าพระบรมธาตุมีอยู่ที่ใด


     พระองค์ทรงพาพุทธบริษัท ๔ ออกค้นหาพระบรมธาตุ ตามเมืองต่างๆ แต่ก็หาไม่พบ ครั้นเสด็จไปรามคาม พวกนาคไม่ยอมให้รื้อพระเจดีย์ ปรากฏว่า จอบหรืออุปกรณ์ใดๆ ที่ถูกต้องพระเจดีย์ต่างหักเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย 


     
จึงทรงประชุมพุทธบริษัท ๔ พลางตรัสถามว่า “ใครเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่เก็บพระบรมธาตุบ้าง” 

     ในที่ประชุมนั้นพระเถระรูปหนึ่ง อายุ ๑๒๐ ปี กล่าวว่า “เมื่อครั้งที่อาตมาอายุ ๗ ขวบ พระมหาเถระบิดาของอาตมภาพได้พาไปบูชาสถูปหินเป็นประจำ” พระราชาสดับเช่นนั้นทรงรีบรับสั่งให้แผ้วถางที่บริเวณสถูปหิน เมื่อปัดฝุ่นออกก็ทรงเห็นพื้นโบกปูนอยู่ 

      จากนั้นทรงทำลายปูนโบก และแผ่นอิฐแล้วเสด็จเข้าไปภายใน ได้ทอดพระเนตรเห็นทรายรัตนะ ๗ ประการ และรูปไม้หุ่นยนต์ถือดาบเดินวนเวียนอยู่ พระเจ้าอโศกรับสั่งให้พราหมณ์ผู้มีคาถาอาคมทำพิธีเซ่นสรวง แต่ก็ยังเข้าไปไม่ได้ ต่อเมื่อพระองค์ทรงนมัสการเทวดาเพื่อขอรับพระบรมธาตุไปประดิษฐานไว้ในวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง และขอเทวดาอย่าทำอันตรายใดๆ เลย


     ท้าวสักกเทวราชรู้ความตั้งใจมั่นของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงตรัสสั่งให้วิสสุกรรมเทพบุตรลงไปทำลายหุ่นยนต์ วิสสุกรรมเทพบุตรได้แปลงเป็นเด็กชาวบ้านไว้ผมจุก ยืนถือธนูตรงพระพักตร์ของพระราชา ทูลว่าจะอาสาทำลายหุ่นยนต์ตัวนี้เอง จากนั้นก็จับศรยิงไปที่หุ่นยนต์ทันที ทำให้ทุกอย่างถูกทำลายกระจัดกระจายไปหมด


     พระราชาทรงถือตรากุญแจเข้าไปทอดพระเนตรเห็นแท่งแก้วมณี และเห็นอักษรจารึกว่า “ในอนาคตกาล พระเจ้าแผ่นดินที่ยากจน จะถือเอาแก้วมณีแท่งนี้แล้ว จงทำสักการะพระบรมธาตุทั้งหลาย” 


      พระเจ้าอโศกมหาราชทรงกริ้วว่า ไม่ควรพูดหมิ่นพระราชาเช่นเราว่า เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ยากจน จึงกระแทกประตูอย่างแรง อันนี้ก็เป็นกุศโลบาย เพราะถ้าพระเจ้าอโศกไม่ทรงกริ้ว ก็จะไม่กระแทกประตู ประตูจะเปิดไม่ออก

     เมื่อประตูเปิดออกได้ พระองค์ได้เสด็จเข้าไปภายใน ประทีปที่จุดไว้เมื่อ ๒๑๘ ปี ก็ยังลุกโพลงอยู่เช่นนั้นด้วยฤทธิ์ของเทวดา ดอกบัวขาบก็เสมือนเพิ่งนำมาวางไว้ในขณะนั้น เครื่องลาดดอกไม้ก็เสมือนเพิ่งนำมาปูลาดไว้ เครื่องหอมก็เสมือนเพิ่งจะบดมาวางไว้ 


       พระราชาทรงหยิบแผ่นทองขึ้นมาอ่านว่า “ต่อไปในอนาคตกาล กุมารพระนามว่า อโศก จักเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระธรรมราชาพระนามว่า อโศก พระองค์จักทรงกระทำพระบรมธาตุเหล่านี้ให้แพร่หลาย” พระองค์ทรงปลื้มพระทัย ตรัสว่า “ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้ามหากัสสปเถระเห็นเราก่อนแล้วว่าเราจะทำเช่นนี้” ทรงยินดีปรีดามาก


     พระเจ้าอโศกทรงนำพระบรมธาตุทั้งหมดออกมา แล้วปิดเรือนพระบรมธาตุไว้ดังเดิม ทรงทำสถานที่ทุกแห่งให้เป็นปกติเช่นเดิม และโปรดให้ประดิษฐานปาสาณเจดีย์ไว้ข้างบน บรรจุพระธาตุไว้ในวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหาร ทรงไหว้พระมหาเถระ แล้วตรัสถามว่า “การที่โยมบริจาคทรัพย์ถึง ๙๖ โกฏิ ให้สร้างวิหารไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ วิหาร โยมได้ชื่อว่าเป็นทายาทในพระพุทธศาสนาหรือยัง”


     พระมหาเถระทูลว่า “ถวายพระพร มหาบพิตรยังเป็นคนภายนอกพระศาสนาอยู่ พระองค์เป็นเพียงปัจจยทายก คือผู้ถวายปัจจัยเท่านั้น หากผู้ใดให้บุตรหรือธิดาของตนได้ออกบวช ผู้นั้นจึงจะชื่อว่า เป็นทายาทของพระศาสนา” 


     พระเจ้าอโศกทรงสดับเช่นนั้น ก็ทรงอนุญาตให้พระโอรส และพระธิดาซึ่งมีกุศลจิตศรัทธาอยู่แล้วออกบวช ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปไกลถึงลังกาทวีป และขยายออกไปทั่วโลกด้วย ยุคนั้นถือว่าเป็นยุคที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากทีเดียว

     นั่นเป็นเพราะความเลื่อมใสอันไม่มีประมาณในพระรัตนตรัย มาในยุคสมัยนี้ ก็เป็นอีกยุคสมัยหนึ่งที่พวกเราทุกคนกำลังช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้สืบทอดยาวนานต่อไป ให้เป็นที่พึ่งแก่มวลมนุษยชาติ 


     พวกเราจะเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการที่จะยอยกพระพุทธศาสนา เป็นกัลยาณมิตรให้ชาวโลกได้หันมาประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วสันติภาพที่ทุกคนใฝ่ฝันหาก็จะบังเกิดขึ้นในยุคของพวกเรา 

      เพราะฉะนั้น ต่อแต่นี้ไป ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของตนเองว่า เราคือผู้สืบทอดอายุพระศาสนา เราคือผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา และหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน จะได้เป็นพยานยืนยันผลของการเข้าถึงสันติสุขภายใน อีกทั้งเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระพุทธศาสนาอีกด้วย



พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

มารผู้ขัดขวางคนทำความดี ให้มีอุปสรรคต่างๆ นานา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบทว่า

“ทูรงฺคมํ เอกจรํ    อสรีรํ คุหาสยํ
 เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ    โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา.

     ชนเหล่าใด จักสำรวมจิต ที่ท่องไปในที่ไกลๆ เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีสรีระ มีถ้ำ (คือร่างกายนี้) เป็นที่อาศัยชนเหล่านั้นจะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร”   

       คำว่ามารหรือพญามาร หมายถึง ผู้ขวางความดี เราจะได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ  


     ในพระไตรปิฎกมีบันทึกไว้หลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้บอกลักษณะของมารว่า มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เราจะเห็นมารตัวจริงได้ก็ต่อเมื่อใจหยุดนิ่งได้อย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ซึ่งปกติของมารจะคอยขัดขวางคนทำความดี ให้มีอุปสรรคต่างๆนานา และจะบังคับผู้ที่มัวส่งใจไปในเรื่องไร้สาระ คือใส่กิเลสอาสวะเข้าไปบังคับมนุษย์ให้ทำบาปอกุศลบ้าง ให้ประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์ ด้วยวิธีการต่างๆบ้าง  


     ดังเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระมหาโมคคัลลานเถระ กำลังเดินจงกรมอยู่กลางแจ้ง ท่านได้ถูกมารเข้าไปสิงอยู่ในท้อง มีความรู้สึกว่าท้องของท่านเหมือนมีถั่วหมัก หนักเหมือนหินอยู่ภายใน ท่านสงสัยจึงสอดส่องญาณเข้าไปดู ก็เห็นมารเข้าไปอยู่ในท้องของท่าน ท่านจึงกล่าวกับมารว่า “มารผู้ลามก ท่านจงออกมาเดี๋ยวนี้ ท่านอย่าเบียดเบียนเราเลย เพราะการเบียดเบียนนั้นจะเป็นทุกข์แก่ท่านตลอดไป”


      ขณะที่กล่าวกับมารนั้น พระมหาโมคคัลลานะทราบว่า มารกำลังคิดว่าท่านไม่เห็นมาร ท่านจึงกล่าวย้ำข้อความเดิมและกล่าวเสริมว่า “มารผู้ลามก เรารู้จักท่านและรู้ว่าท่านคิดอะไรอยู่ ท่านอย่าเข้าใจว่า เราไม่รู้จักท่านนะ” 

     เมื่อมารได้ยินดังนั้น จึงทราบว่าพระมหาโมคคัลลานะรู้แล้ว จึงออกมาอยู่ที่ข้างประตูพระวิหาร พระโมคคัลลานะกล่าวว่า “มารเอ๋ย เราเห็นท่านยืนอยู่ข้างบานประตู ท่านอย่าเข้าใจว่าเราไม่เห็นท่าน เมื่อก่อนเราเคยเป็นมารชื่อทูสี มีน้องสาวชื่อกาลี ท่านเป็นบุตรน้องสาวของเรา และเป็นหลานชายของเราเอง” เมื่อท่านทักทายมารจบแล้ว ก็ได้เล่าเรื่องในอดีตให้มารฟังว่า


      ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ พระองค์มีมหาสาวกชื่อวิธุระและสัญชีวะ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระสัญชีวะนั่งเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ใต้โคนไม้ พวกคนเดินทางเห็นท่านนั่งนิ่งก็เข้าใจผิดคิดว่าท่านมรณภาพแล้ว จึงได้ช่วยกันจุดไฟเผาท่านแล้วก็จากไป 

      พอครบกำหนดรุ่งเช้า พระสัญชีวะก็ออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วเดินบิณฑบาตเข้าไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านเห็นท่านเดินมาด้วยผิวพรรณที่เปล่งปลั่งผ่องใส เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ที่ไฟไม่อาจทำอันตรายท่านได้ พร้อมกับได้บอกถึงการกระทำของพวกตนเอง อีกทั้งได้ขอขมาลาโทษที่ได้ทำพลั้งพลาดล่วงเกินท่าน


       ในครั้งนั้น พระมหาโมคคัลลานะเคยเป็นมารชื่อทูสี ท่านมีความคิดว่า เราจะดลใจพวกชาวบ้าน ให้ด่าบริภาษเบียดเบียนพวกภิกษุผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม เพื่อจะให้ภิกษุสงฆ์มีจิตหวั่นไหว แล้วตกอยู่ภายใต้อำนาจของท่าน พระภิกษุเมื่อถูกด่าว่า ก็เกิดความหวั่นไหว แล้วตกอยู่ภายใต้อำนาจของท่าน จึงไม่อาจหาญในการแสดงธรรม ที่จะสั่งสอนมนุษย์ให้เข้าถึงธรรมได้ เมื่อชาวบ้านละโลกไปจึงตกนรกกันมากมาย



       พระพุทธองค์เมื่อทรงทราบความนั้น จึงประทานโอวาทว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกชาวบ้านถูกทูสีมารดลใจ ชักชวนให้ด่า บริภาษ เบียดเบียนภิกษุ พวกเธอรู้เหตุนี้แล้วจงอย่ามีจิตเศร้าหมอง ให้พวกเธอเจริญสมาธิภาวนา ตั้งจิตอยู่ในพรหมวิหารธรรม แผ่ไปทุกทิศทุกทางโดยไม่มีประมาณ เธอก็จะเอาชนะมารได้” พวกภิกษุก็ปฏิบัติตามพุทธโอวาท จนสามารถหลุดจากการบังคับบัญชาของทูสีมารได้


      เมื่อทูสีมารบังคับเหล่าภิกษุไม่ได้ จึงเปลี่ยนอุบายใหม่ โดยดลใจชาวบ้านให้มาสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุทั้งหลาย โดยหวังจะให้ภิกษุติดในลาภสักการะ จิตใจจะได้หวั่นไหว ทูสีมารจะได้ช่องเข้าบังคับพระภิกษุ 

       ก็ปรากฏว่า ภิกษุผู้ประมาทก็หลงติดในลาภสักการะ มีจิตฟุ้งซ่าน ไม่เป็นอันประพฤติธรรม ไม่อาจหาญในการแสดงธรรมให้มหาชนฟัง แต่คนที่ทำบุญทำสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุสงฆ์ก็ได้บุญบารมี เมื่อละโลกไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์กันมากมาย


     พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความเป็นไปทั้งหมด จึงตรัสเตือนเหล่าภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอถูกมารดลใจอีกแล้ว เพราะไม่สำรวมอินทรีย์ ให้พวกเธอจงพิจารณาความไม่งามในร่างกาย ให้เห็นว่าเป็นของปฏิกูลไม่น่ายินดี แล้วเธอจะหลุดพ้นจากบ่วงมาร” เมื่อพระภิกษุนำไปปฏิบัติ ก็ทำให้ไม่ติดในลาภสักการะ จึงไม่ถูกทูสีมารบังคับเอาได้ เมื่อทูสีมารรู้ว่าทำอะไรภิกษุสงฆ์ไม่ได้ ก็เกิดความโกรธกระวนกระวายขึ้นมาอย่างหนัก


       เช้าวันหนึ่ง ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังเสด็จบิณฑบาต โดยมีพระวิธุระเป็นปัจฉาสมณะ ทูสีมารก็เข้าไปสิงเด็กคนหนึ่ง ให้เอาก้อนหินขว้างพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ก้อนหินโดนศีรษะพระวิธุระจนแตก เลือดไหลเป็นทาง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชำเลืองดู ก็รู้ว่าเป็นการกระทำของมาร จึงตรัสว่า “ทูสีมารเจ้าทำเกินไปแล้ว เจ้าไม่ได้รู้ประมาณตัวเองเลย” 

       ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอยู่นั้น มหาปฐพีแม้หนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ไม่อาจรองรับกรรมหนักของทูสีมาร ได้แยกออกเป็นช่อง ให้เปลวไฟอันโชติช่วงจากมหานรก ปรากฏขึ้นมา แล้วดูดทูสีมารลงไปทันที  


     ทูสีมารหมกไหม้อยู่ในมหานรก ถูกทรมานนานหลายพันปีนรก เมื่อเทียบกับเวลาในโลกมนุษย์ นับเป็นเวลายาวนานทีเดียว และยังต้องหมกไหม้อยู่ในอุสสทนรกนานถึงหมื่นปีนรก เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส พระมหาโมคคัลลานะท่านได้เล่าเรื่องนี้ให้ทูสีมาร ซึ่งเป็นหลานของท่านฟัง เมื่อมารได้ฟังแล้วก็เสียใจ ละอายในการกระทำของตนเอง จึงได้อันตรธานหายไป ไม่กล้ามารบกวนท่านอีก


       เห็นได้ว่า มารหรือพญามารซึ่งเป็นผู้ขวางการสร้างความดีของเรานั้น จะมีอุปนิสัยมากไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง มีความเห็นผิดคิดว่า พระรัตนตรัยไม่มีคุณ และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้ายพระรัตนตรัย ประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์ที่มีมรรคผลนิพพานเป็นแก่นสาร อยากจะให้มนุษย์ทั้งโลกตกอยู่ภายใต้การบังคับของเขา ให้ทำความชั่วต่างๆ และเมื่อมารบังคับใครไม่ได้ดั่งใจ จะโกรธแค้นขุ่นเคืองใจ ใช้วิธีที่รุนแรงทำลายให้พินาศย่อยยับ แต่ถึงอย่างไรธรรมะย่อมชนะอธรรมเสมอ ในที่สุดมารก็ต้องพ่ายแพ้ต่อความดี



     ดังนั้น เราอย่ายอมให้เขาบังคับ ให้เอาชนะด้วยกำลังใจที่บริสุทธิ์เข้มแข็ง มุ่งมั่นทำความดีของเราต่อไปอย่างไม่หวั่นไหว และให้ช่วยกันขยายบ้านกัลยาณมิตรให้มากๆ ชักชวนผู้มีบุญมาร่วมกันทำความดี ทำใจให้ผ่องใสด้วยการหมั่นทำใจให้หยุดนิ่งทุกๆ วัน ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ แล้วเราจะหลุดพ้นจากจากการบังคับบัญชาของพญามาร จะมีความเป็นใหญ่ในตัว เป็นอิสระอย่างแท้จริงกันทุกๆ คน


พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559

พยากรณ์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำองค์ปัจจุบัน

หลวงปู่ท่านได้พยากรณ์บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ องค์ปัจจุบัน 

ในครั้งที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังเป็นสามเณรหลวงปู่ท่านได้พยากรณ์ว่า "องค์นี้แหละ จะได้เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำองค์ต่อไป"
ต่อมาหลังจากที่หลวงปู่มรณภาพแล้ว สมเด็จป๋าก็รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำแทนอยู่ช่วงหนึ่ง ในระหว่างปี พ.ศ. 2502 - 2508 แต่หลังจากนั้นสมเด็จป๋า (ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระวันรัตในสมัยนั้น) ต้องไปรับตำแหน่ง และหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นอีกหลายตำแหน่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชวรเวที) ได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำจริงๆ ดังที่หลวงปู่พยากรณ์ไว้
อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่กุฏิของหลวงปู่เก่าทรุดโทรม คณะลูกศิษย์จึงเห็นพ้องต้องกันว่า อยากจะให้หลวงปู่ท่านอยู่สะดวดสบายขึ้น จึงรวมทุนกันสร้างตึกใหม่ถวายท่าน ชื่อ ตึกมงคลจันทสร ระหว่างที่้กำลังก่อสร้างอยู่นั้น หลวงปู่ท่านมักจะออกมานั่งดูเสมอๆ และเมื่อมีผู้ถามถึงตึกหลังนี้ทีไร ท่านก็จะบอกว่า
"ตึกหลังนี้สร้างให้ 'ช่วง' เขาอยู่"
และในปัจจุบัน 'ตึกมงคงจันทสร' ก็เป็นกุฏิของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เจ้าอาวาสวัดปากน้ำองค์ปัจจุบัน จริงๆ ดังที่หลวงปู่พยากรณืไว้ทุกประการ

อานุภาพหลวงปู่ สู่โลกปัจจุบัน ตอน ผจญภัยกลางสายน้ำเชี่ยว


สะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของชาวโลก จนกระทั่งมีฝรั่งนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ The Bridge over the River Kwai สะพานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะ ที่สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยแรงงานของเชลยศึกสัมพันธมิตรจำนวนมากที่ญี่ปุ่นเกณฑ์มา ซึ่งส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟจะต้องผ่านแม่น้ำแควใหญ่ จึงมีการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้น ณ บริเวณตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้เชลยศึกหลายหมื่นคนเสียชีวิตลง เล่ากันว่า ทางรถไฟสายนี้ใช้แรงงานและชีวิตเชลยศึก 1 ไม้หมอน ต่อ 1 ชีวิตเลยทีเดียว
􀀁ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการเดินรถบนเส้นทางสายนี้ทุกวัน และจัดรถไฟขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ-น้ำตก ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ซึ่งปรากฎว่ามีผู้คนเดินทางไปชมสะพานแห่งนี้เป็นจำนวนมาก และหนึ่งในจำนวนผู้คนที่เดินทางไปชมสะพานข้ามแม่น้ำแคว ก็คือแพทย์หญิงณัฐวรรณ พละวุฑิโฒทัย หรือหมอปอ ซึ่งขณะนั้นรับราชการอยู่ที่ โรงพยาบาลคำม่วง จ.กาฬสินธุ์

􀀁เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2551 บรรดาเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลคำม่วงเดินทางไปทัศนศึกษาสะพานข้ามแม่น้ำแคว ในเวลาประมาณ 17.30 น. บรรยากาศยามเย็นที่สดชื่นเย็นสบายและทิวทัศน์ที่สวยงาม มีมนต์เสน่ห์ดึงดูดทำให้เธอและเพื่อนหมออีก 2 คน พากันเดินไปชมจนถึงกลางสะพาน เมื่อหมอณัฐวรรณมองลงไปใต้สะพาน เธอก็เห็นว่ามีกระแสน้ำที่ถูกปล่อยออกมาจากเขื่อน ทำให้น้ำในแม่น้ำแควมีระดับสูงขึ้นและไหลเชี่ยวกราก

􀀁ทันใดนั้น พวกเธอก็ได้ยินเสียงหวูดรถไฟดังไล่มา ทุกคนจึงรีบหลบเข้าไปตรงจุดพักคนข้างรางรถไฟ เธอกับเพื่อนอีกคนหนึ่งคือหมอณัฐชัยยืนอยู่ด้วยกัน ตอนนั้นเสียงหวูดรถไฟดังกระชั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รถไฟแล่นเฉี่ยวพวกเธอไป หมอณัฐวรรณรู้สึกว่ามีอะไรมาฟาดที่หัวอย่างแรง ทำให้เธอกับหมอณัฐชัยกระเด็นตกจากสะพานดิ่งลงกระแทกกับพื้นน้ำ
􀀁หมอณัฐวรรณเล่าว่า หลังจากนั้นเธอก็วูบไป รู้สึกเหมือนตกอยู่ในภวังค์อันเลวร้ายที่มีมัจจุราชรออยู่เบื้องหน้า เธอรู้สึกว่าตัวเองกำลังจมและพยายามดิ้นรนว่ายน้ำพยุงตัว มีคนมาเล่าให้เธอฟังภายหลังว่า พวกชาวบ้านตะโกนโหวกเหวกร้องเรียกเรือที่เหลืออยู่ลำสุดท้ายบนลำน้ำให้เข้า มาช่วยเธอ หัวเรือเข้ามาถึงหมอณัฐชัยก่อน แต่โชคร้ายที่กระแสน้ำซัดเขาให้ห่างออกจากเรือและดูดให้จมดิ่งลงไปจนไม่ สามารถช่วยได้ ในเวลาเดียวกัน คนขับเรือก็เหลือบเห็นมือของหมอณัฐวรรณที่โผล่ขึ้นมาก่อนจะจมดิ่งตามหมอณัฐชัยลงไป คนขับเรือคว้ามือเธอไว้ทัน แล้วลากขึ้นมาบนเรือได้ และพยายามช่วยให้เธอได้สติเร็วที่สุด

􀀁เมื่อเริ่มรู้สึกตัว เธอจำอะไรไม่ได้เลย งงว่าตัวเองอยู่ที่ไหน มาทำอะไรอยู่ตรงนี้ ทำไมมีผู้คนมุงเต็มไปหมด ต้องใช้เวลาสักครู่กว่าจะเรียกความจำคืนมาได้ พอรู้ตัวก็รีบคลำสร้อยที่ห้อยเหรียญหลวงปู่ทันที นึกขอบพระคุณที่หลวงปู่ช่วยคุ้มครอง หลังจากนั้นก็มีคนนำเธอส่งโรงพยาบาล เพื่อนของเธอที่ตกสะพานไปด้วยกัน หลังจากผ่านการค้นหาเป็นเวลา 36 ชั่วโมง ถึงได้เจอในสภาพที่เป็นศพไปแล้ว

􀀁เหตุการณ์ครั้งนี้ มีแต่คนถามว่าเธอรอดมาได้อย่างไร สำหรับตัวเธอเองคิดว่า ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะทำให้เธอรอดจากความตายกลางสายน้ำเชี่ยวได้ นอกจากหลวงปู่ที่เธอแขวนเหรียญท่านติดไว้กับตัว เธอเห็นแล้วว่า เธอกับเพื่อนยืนอยู่ติดกัน ณ ตำแหน่งเดียวกัน จมน้ำห่างกันนิดเดียว เพื่อนตายแต่เธอกลับรอดมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ และแทบไม่บาดเจ็บอะไรเลย มีแค่หัวโนกับถลอกนิดหน่อย
􀀁ด้วยบุญทั้งหลายที่เธอทำมาตั้งแต่เข้าวัดพระธรรมกายจาก 5 ขวบ จนถึงปัจจุบัน และบุญที่ทำเนื่องกับหลวงปู่ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลนับครั้งไม่ถ้วน รวมทั้งมีใจผูกไว้กับหลวงปู่ตลอดมา ทำให้ในที่สุดหลวงปู่ก็คุ้มครองเธอให้รอดชีวิตเป็นอัศจรรย์ แม้ห้วงน้ำเชี่ยวใต้เส้นทางรถไฟสายมรณะก็ไม่อาจกลืนกินชีวิตของเธอได้