วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุผล

ทำอย่างไรจึงจะฝึกตนให้เป็นคนมีเหตุผล
สร้างงานสร้างเงินสร้างคนเป็น?

หลวงพ่อตอบปัญหา
พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

     
คนมีเหตุผล คือผู้ที่สามารถตัดสินใจ
ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีความเห็นถูกตามมาตรฐานของผู้รู้จริง คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า สัมมาทิฐิ หมายถึง ความเห็นถูกหรือความเข้าใจถูกในเรื่องของกรรม

     
ซึ่งหลักเหตุและผลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งเป็นไปตามกฎแห่งกรรม

     พระพุทธองค์ทรงสอนให้ชาวโลกเป็นผู้มองการณ์ไกล เพราะชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน จากชาตินี้ภพนี้สู่ชาติหน้าภพหน้า สู่ชาติต่อ ๆ ไป จนกว่าจะกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้สำเร็จ

     ดังนั้น ทุกจังหวะของชีวิต จะตัดสินใจทำอะไร ไม่ทำอะไร จะดำเนินชีวิตไปสู่จุดไหน จำเป็นต้องคิดและชั่วน้ำหนักให้ดีถึงผลดีผลเสียของการกระทำ

     ในคราวใดที่ได้รับผลร้ายของการกระทำที่ทำผิดพลาดไว้ในอดีต จะต้องไม่มัวแต่หาคนผิดเพราะเรานั่นเองคือผู้รับผิดชอบการกระทำของตัวเรา สิ่งที่ควรจะทำคือยอมรับและแก้ไข คือทำใหม่ให้ดีกว่าเดิม อย่าให้ผิดพลาดอีก เราจึงจะเป็นผู้ที่ลิขิตชีวิตที่ดีให้แก่ตนเองได้

     สิ่งสำคัญของผู้ที่จะเข้าใจกฎแห่งกรรมได้ดีจริงๆ คือ คนๆ นั้นจะต้องได้ทำความดีมาจนคุ้นในระดับหนึ่งว่าอะไรคือ ถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควรทำไม่ควรทำ ตามความเป็นจริง
     และฝึกฝนเรื่องนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยเริ่มจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ได้แก่ คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย คุณลุงคุณป้า หรือคุณน้าคุณอา ควรจะทำตัวเป็นแบบอย่าง ให้ลูกหลานทำความดีจนคุ้น เพราะตัวอย่างที่ดีย่อมมีค่ากว่าคำสอนที่ดีแต่ไม่ทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู

     แม้กระทั่งในโรงเรียน ถ้าผู้อำนวยการสถานศึกษาลงมานำคณะครู นักเรียน ลูกจ้าง ภารโรง ให้ทำความดีร่วมกัน เป็นแบบอย่างให้เห็นจนคุ้นตาคุ้นใจ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้ทุกคนได้คุ้นเคยกับการทำความดีและเห็นผลแห่งการทำความดีเช่นกัน

    การทำงานทุกอย่างที่ร่วมมือกันทำด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน จะก่อให้เกิดความสามัคคี ความมีวินัย ความอดทน และความเคารพ แล้วคุณธรรมความดีต่าง ๆ จะหลั่งไหลสู่ใจคนทำมากมาย

สิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องฝึก คือ

     1. ฝึกเป็นคนรู้จักให้ โดยเริ่มจาก ‘ทาน’ คือ ‘การให้’ เริ่มเรียนรู้การ ‘ให้’ โดยฝึกเอาศักยภาพที่ตนมีออกมาใช้ เอาเอาเรี่ยวแรงมาทำทาน เอาสติปัญญาความรู้มาทำทาน รวมทั้งเอาทรัพย์ออกมาทำทานด้วย

     ยิ่งให้ ยิ่งได้ คือได้ทั้งเรี่ยวแรงพละกำลัง ได้เพื่อนฝูง ได้น้ำใจ ได้ความคิดสร้างสรรค์
    
     2. ฝึกความเคารพ เพื่อเป็นพื้นฐานการจับดีและความคิดสร้างสรรค์ เรื่องความเคารพนี้เป็นเรื่องลึกซึ้ง หากผู้ใหญ่ไม่ได้สอนลูกหลานให้เข้าใจซาบซึ้งว่า เราให้ความเคารพทำไม เด็กจะเข้าใจแต่เพียงผิวเผิน

     ถ้าเด็กเข้าใจแค่นี้ เด็กจะไม่ได้อะไรที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวของเราเลย ผู้ใหญ่ต้องสอนให้เข้าใจลึกถึงที่มาของความเคารพว่าเรากราบเราไหว้ทำไม

     เรื่องของการเคารพ เรื่องของการบูชา เป็นเรื่องของการ ‘ค้นหา’ ความดีของคนอื่น เมื่อรู้ว่าเขาดีอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ก็ ‘ยอมรับนับถือ’ คือ นำความดีไปประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อว่าสักวันหนึ่งตนก็จะเป็นคนที่มีคุณความดีในตัวเช่นเขาคนนั้นบ้าง

     ดังนั้น เรื่องของการไหว้ การเคารพพระรัตนตรัย พ่อแม่ ครูอาจารย์ เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรีบสอนรีบทำให้เป็น เพราะเป็นทางไหลมาแห่งคุณความดีในตัว
     3. ฝึกมองผลกรรมในอนาคต เป็นพื้นฐานของความมีวิสัยทัศน์เมื่อใครก็ตามมีโอกาสทำความดีจนคุ้นเช่นนี้ จะเข้าใจเรื่องของกรรมว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ อย่างลึกซึ้ง จะเป็นคนมองการณ์ได้ไกลว่า ประกอบเหตุอย่างไรจะส่งผลอย่างไรต่อไป และไม่ได้แค่ส่งผลในชาตินี้ แต่ยังส่งผลไปถึงชาติหน้า ติดเป็นโปรแกรมชีวิตให้อีก
     หากเรามองเห็นภาพรวมของชีวิตเช่นนี้ เราจะมองเห็นว่า บนเส้นทางชีวิตอันยาวไกลนี้ทุกสิ่งที่เราทำให้แก่ตนเองในแต่ละวัน ตั้งแต่ตื่นเช้าจรดเข้านอน เราควรประกอบเหตุเช่นไรเพื่อผลในอนาคตอย่างไร

     ดังนั้น ทุกอย่างอนาคตคือสิ่งที่เราต้องลิขิตเอง เลือกเองและลงมือทำเอง ด้วยการฝึกเป็นคนมีเหตุมีผล ไม่เป็นคนเชื่อง่าย ไม่ถือมงคลตื่นข่าว สร้างงานเป็น สร้างเงินเป็น สร้างคนเป็นก็จะเกิดขึ้น ด้วยเหตุที่เราได้ทำความดีมาจนคุ้น และได้ศึกษากฏแห่งกรรมจนเข้าใจนี้เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น